รัฐสภา – กมธ.สื่อฯ วุฒิสภาประชุมร่วม กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ หารือแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ขณะวงหารือยอมรับหนักใจ การรู้เท่าทันสื่อ หวั่นการปฏิรูปช้าไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภาประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยมีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ เป็นประธานการประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ใน 6 ประเด็น ได้แก่ การปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศและระบบเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ โดยมีนายเสรี วงษ์มณฑา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และ นายสิโรฒม์ รัตนามหัทธนะ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมประชุมด้วย เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า กังวลแผนปฏิรูปด้านสื่อจะล่าช้า เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ส.ว.ทำได้เพียงเร่งรัดและติดตามพร้อมเสนอแนะเท่านั้น
นายสมชาย กล่าวว่า แนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากสื่อออนไลน์มีส่วนกระตุ้นความรุนแรงและความเกลียดชังได้
ขณะที่นายเสรี เปิดเผยว่า หลังจากมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ปรับแผนการปฏิรูป เน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เนื่องจากสื่อสารมวลชนถือเป็นโรงเรียนของสังคม และจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ สำหรับที่มาของแผนปฏิรูปทั้ง 6 ประเด็นนั้น มาจากปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบันที่คนไม่รู้เท่าทันสื่อ สื่อบางรายยังขาดจริยธรรม อุตสาหกรรมสื่อเกิดวิกฤตล้มละลาย พลังของโซเชียลที่สามารถทำแคมเปญและเกิดการบูลลี่กัน
“การพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีช่วยเตือนภัยได้อย่างไร และการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ นอกจากสื่อจะเป็นโรงเรียนของสังคมแล้ว ก็หวังว่า รัฐบาลจะกำกับการทำงานสื่อบนพื้นฐานของเสรีภาพ ซึ่งสื่อก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง ขณะที่รัฐบาลให้เสรีภาพประชาชน และประชาชนก็ต้องรู้เท่าทันสื่อ” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การรู้เท่าทันสื่อ ที่ต้องการให้มีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย รวมถึงให้สื่อของรัฐมีส่วนร่วมรณรงค์ ตลอดจนขอความร่วมมือองค์กรที่จัดอบรมผู้บริหารได้บรรจุเรื่องการรู้เท่าทันสื่อเป็นหนึ่งในวิชาที่ต้องอบรม 2.การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ซึ่งคณะกรรมการฯจะพูดคุยกับ กสทช.และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ และ 3. การพัฒนาระบบคลังข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการจัดการ Fake news ทั้งนี้ ยอมรับว่า คณะกรรมการฯทำได้เพียงแค่เสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและยอมรับว่า หนักใจเรื่องการรู้เท่าทันสิ่อของประชาชน ตลอดจนการโฆษณาชวนเชื่อที่เบี่ยงเบนข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริง และการปฏิรูปจะสำเร็จได้จะต้องปฏิรูปผู้บริหารในหน่วยงานราชการ.-สำนักข่าวไทย