ทำเนียบรัฐบาล 12 พ.ย.-“วิษณุ” ชี้ยื่นตีความญัตติตั้งส.ส.ร. อาจประหยัดเวลากว่ายื่นหลังทำประชามติ ย้ำไม่ทำให้กระบวนการแก้ไขรธน.สะดุด มองแง่ดีปล่อยไว้อาจสายเกินแก้ ยืนยันรัฐบาลหนุนร่างพรรคร่วมแก้ รธน.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงเสียงวิจารณ์จารณ์รัฐบาลไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.บางส่วนยื่นตีความว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของส.ส.ไม่ใช่ของรัฐบาล หากส.ส.และ ส.ว.สงสัยแล้วจะยื่นตีความ ก็พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูก็ไม่สะดุด สามารถทำได้ เพราะผู้ที่ยื่นคงคิดว่าถ้าไม่ทำเวลานี้ อนาคตอาจจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหาย เช่น ถ้าทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้
“เดาเอาว่าเขาอาจเจตนาดี เพราะไม่วันใดวันหนึ่ง ก็ต้องส่งอยู่แล้ว เพราะการส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่า เพราะเป็นภาคบังคับ ถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่าหากมีสมาชิกรัฐสภาสงสัยมีสิทธิ์เข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยภายใน 30 วัน ถ้าส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลาไป 1 เดือน ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า หากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทันเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ ไม่ให้สะดุดและในวันที่ 17-18 พ.ย. จะโหวตวาระหนึ่ง หากผ่านก็ตั้งคณะกรรมาธิการฯใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าวส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จ เรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่อง กระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอพ.ร.บ.ประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยืนยันว่าหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุดชะงัก ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ตนไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่น
เมื่อถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่อง เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะเป็นการยื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 31 ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภาฯ และมีหลายเรื่องไปที่ศาลไม่รับ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยส่งไปหารือก็ไม่รับ ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด และศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย โดยให้ไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อถามย้ำว่า หากศาลไม่รับแล้วเกิดอุบัติเหตุจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ากติกาศาลรับไม่ได้ ก็รับไม่ได้ เหมือนมีเรื่องกันแต่ยังไม่เกิดเหตุ ศาลก็ไม่รับ แต่พอมีเรื่องภายหลังก็โทษไม่ได้เพราะกติกาเป็นเช่นนั้น จึงต้องดูว่าศาลจะรับหรือไม่
ส่วนหลังจากนี้ จะมีการยื่นตีความว่าการทำประชามติจะมีก่อนหรือหลังรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างที่ยื่นตอนนี้มีประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะหากถามแค่ตั้งส.ส.ร.หรือไม่ ศาลคงไม่รับ.-สำนักข่าวไทย