รัฐสภา 9 ก.ย. – “พล.อ.ชัยชาญ” แจงการจัดหาเรือดำน้ำไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือมอบอำนาจเต็ม เพราะเป็นสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ย้ำทุกขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบ ด้าน “สันติ” ยืนยันต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถูกต้องตามกฎหมาย แจง “อุตตม” ถอนความเห็นก่อนลาออก เพราะอยากให้รัฐมนตรีคนใหม่ให้ความเห็นอย่างอิสระ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า เป็นการจัดหายุทโธปกรณ์แบบรัฐต่อรัฐ โดยยกเว้นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งการดำเนินการระยะที่ 1 เป็นแบบรัฐต่อรัฐ และผ่านการพิจารณาด้านกฎหมายทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ส่วนที่เมื่อเป็นแบบรัฐต่อรัฐ เหตุใดไม่เอาเรื่องเข้ารัฐสภา เนื่องจากไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 แต่เป็นสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศว่า ในกรณีนี้เป็นร่างข้อตกลงการซื้อขายเชิงพาณิชย์ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญมาตรา178 เมื่อต้องด้วยรัฐธรรมนูญจึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือขอหนังสือมอบอำนาจเต็มหรือ Full Power กองทัพเรือจึงดำเนินการได้
พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ประเด็นที่ว่าทำไมผู้ลงนามในข้อตกลงของฝ่ายไทยจึงเป็นเสนาธิการทหารเรือ แต่ฝ่ายจีนเป็นผู้แทนบริษัท China Shipbuilding and Offshore International Company (CSOC) และเหตุใดทำไมถึงจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนทั้ง ๆ ที่เป็นการซื้อจากรัฐบาลจีน ขอเรียนว่า ประเด็นที่ผู้ลงนามฝ่ายไทยเป็นเสนาธิการทหารเรือ แต่ฝ่ายจีนเป็นผู้แทนเอกชนเป็นผู้ลงนามนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบอำนาจให้เสนาธิการทหารเรือ ขณะที่ ฝ่ายจีน รัฐบาลจีนมอบหมายให้องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ หรือ The State Administration for Science, Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีนและเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้มอบอำนาจให้ CSOC ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ 100% โดยในหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของ CSOC มีการระบุคำว่า State-owned ที่ย้ำถึงความเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วน เรื่องการจ่ายเงินให้กับ CSOC นั้นเป็นเพราะ SASTIND ได้มอบอำนาจเต็มให้กับ CSOC
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีนายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายพาดพิงการต่อสัมปทานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า บริษัทบีทีเอสได้สัมปทานช่วงบางนาถึงสนามกีฬาแห่งชาติ หลังจากนั้นขยายมาถึงสมุทรปราการแถวบางปู และจากเซ็นทรัลลาดพร้อมถึงคูคต โดยทั้งส่วนบีทีเอสและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ส่วน แต่ประชาชนท้วงติงว่าสร้างความลำบากให้ประชาชน จึงเกิดแนวคิดระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของสัมปทาน จึงหารือกันเพื่อแก้ปัญหาต่อรถหลายครั้ง ว่าจะร่วมทุนกันอย่างไร เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางตลอดสายตั้งแต่คูคตถึงบางนาในราคาถูกลง จากประเมินว่าเกินกว่า 150 บาท เหลือ 65 บาท ถูกกว่าเกือบ 2 เท่า แต่ทาง กทม.มีเงื่อนไขว่า ถ้ารฟม.ซึ่งจ่ายเงินค่าก่อสร้าง 7 หมื่นกว่าล้านบาท จึงตัดสินใจจ้างบีทีเอสต่อเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยใช้บริษัทเดียว ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบหนังสือสัญญาเรียบร้อยแล้ว
นายสันติ กล่าวว่า ก่อนที่นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลาออก 1 วัน ก็ได้ตอบความเห็น แต่ก็ขอถอนความเห็นเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ได้แสดงความเห็นอย่างอิสระ ก่อนนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี ส่วนกรณีนายปรีดี ดาวฉาย ที่เพิ่งลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอดูเอกสารก่อนลาออก ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบความเห็นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.-สำนักข่าวไทย