ศาลปกครอง 6 ส.ค.-ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนเพิกถอนคำสั่งไล่ออก “วิชัย” อดีตผอ.สำนักกฎหมายสรรพากรเป็นปลดจากราชการ คดีรับโอนหุ้นชินคอร์ ชี้ป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานแสดงว่าได้รับประโยชน์แลกกับการงดเว้นคำนวณภาษี “คุณหญิงพจมาน” ที่โอนหุ้นชินฯ 738 ล้านให้ “บรรณพจน์“ เร่งคืนสิทธิประโยชน์โดยเร็ว
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ลดโทษนายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากรจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ จากกรณีนายวิชัยงดเว้นการคำนวณภาษีกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (มหาชน) หรือชินคอร์ป 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาทให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมานเมื่อปี 2540 แต่มีคำพิพากษาแก้คำสั่งศาลปกครองกลางในส่วนระยะเวลาที่ให้คำสั่งเพิกถอนมีผลย้อนหลังไป นับแต่วันที่มีคำสั่งคือวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เป็นให้คำพิพากษาเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการมีผลบังคับ และให้คืนสิทธิประโยชน์ที่นายวิชัยพึงมีพึงตามกฎหมายโดยเร็ว
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลดโทษนายวิชัย จากไล่ออกเป็นปลดอกจากราชการ ระบุว่ามติชี้มูลความผิดทางวินัยนายวิชัยของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นเพียงการใช้อำนาจทางปกครอง ตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 223 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อคดีนี้นายวิชัยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เรื่องลดโทษข้าราชการเฉพาะส่วนที่ลดโทษนายวิชัย จากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนและวินิจฉัยของป.ป.ช. หมายถึงเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่การงานที่ทำเท่านั้น นอกจาก 3 กรณีดังกล่าวนี้ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิด ดังนั้น การที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่นนอกเหนือจากการทุจริตต่อหน้าที่ จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของป.ป.ช.มาเป็นสำนวนสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่งของ พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช.2542
ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง 2540 สำนักกฎหมายที่นายวิชัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรียกเก็บภาษีอากร แต่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการวินิจฉัยตีความกฎหมายประกาศคำสั่งและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งจากข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าการรับโอนหุ้นของนายบรรณพจน์ สำนักตรวจสอบภาษีได้ดำเนินการตรวจสอบและมีความเห็นอยู่ก่อนแล้วว่าเป็นกรณีการรับหุ้นจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 ( 10 ) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร ซึ่งในการพิจารณาตอบข้อหารือของสำนักกฎหมายได้พิจารณาให้ความเห็น โดยอ้างอิงในความเห็นของกรมสรรพากรและคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีข้อเท็จจริง และความเห็นใกล้เคียงกับความเห็นของสำนักตรวจสอบภาษี เมื่อป.ป.ช. ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการให้ความเห็นในกรณีนี้ นายวิชัยมีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ จึงไม่อาจถือว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ
สำหรับกรณีนายบรรณพจน์รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน และหรือนายทักษิณผ่านระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จะถือเป็นการโอนหลักทรัพย์โดยอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความเห็นของป.ป.ช.หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องแยกพิจารณาภาระภาษีที่ผู้มีเงินได้พึงประเมินจะต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดในสำนวนคดีนี้ที่พิสูจน์ได้ว่านายวิชัยได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ที่ทำให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย
กรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าพฤติการณ์ของนายวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรค 3 มาตรา 15 วรรคสองและมาตรา 98 วรรค 2 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 ตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด การที่ปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งกระทรวงคลัง ที่ 1214/2549 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ลงโทษไล่นายวิชัยออกจากราชการ และต่อมาได้มีคำสั่งกระทรวงคลังที่ 658/2651 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2551ลดโทษนายวิชัยจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย