ทำเนียบ 25 ก.ค.- ศบ.ทก. ย้ำ กัมพูชาเริ่มยิงก่อน เตือนประชาชนไทย-กัมพูชาตามแนวชายแดน อพยพจากพื้นที่แนวรบ เพื่อลดความสูญเสีย เผยวันนี้ยังมีจุดปะทะ 12 แห่ง ยัน เขมรละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ยิง รพ.-เด็ก-พลเรือน เผย ทูตไทยที่นิวยอร์กเตรียมแจง UNSC บ่ายนี้ ชี้ไม่มีการลงมติ คาด แค่ขอยุติปะทะ ขณะที่ “มาริษ” ถึงไทยคืนนี้ พร้อมเปิดรายละเอียด ด้าน โฆษก กต. หารือสื่อต่างประเทศ อธิบายข้อเท็จจริง
พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะโฆษก ศบ.ทก. ด้านความมั่นคง และ นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะโฆษก ศบ.ทก. การต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. ประจำวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2568
โดยพล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนชาวไทย จากการโจมตีของฝ่ายกัมพูชาที่เริ่มยิงมายังกำลังของฝ่ายไทยช่วงเช้าวันนี้ (24 ก.ค.) ทำให้ฝ่ายไทยจำเป็นต้องตอบโต้จนเกิดการปะทะดังกล่าว ซึ่งการปะทะกันเป็นเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้ไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้า และขณะนี้เหตุประทะยังคงอยู่ จึงอยากแจ้งเตือนประชาชนทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสู้รบในครั้งนี้และยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนสองฝั่งให้อพยพออกจากพื้นที่การรบ เพื่อลดหรือป้องกันความเสียหายข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตของฝ่ายไทยเป็นพลเรือน 25 กรกฎาคม ณ เวลา 09:00 น. มีจำนวนผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บสาหัส 7 ราย บาดเจ็บปานกลาง 13 รายบาดเจ็บเล็กน้อย 11 ราย รวม 45 ราย
ทางกระทรวงมหาดไทยโดย 4 จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ได้อพยพประชาชนไปแล้วกว่า 130,000 คนเกือบร้อยละ 100 ของประชาชนในพื้นที่ โดยจังหวัดได้มีการจัดเตรียมศูนย์พักพิงที่สามารถรับรองประชาชนได้กว่า 300,000 คนรวมถึงจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ. ) เพื่อดูแลประชาชนและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่
ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้อพยพ ผู้ป่วย ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ออกจากโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่รัศมีของการโจมตีที่ได้รับผลกระทบ 11 แห่ง และ 4 แห่งปิดทำการเนื่องจากมีความเสี่ยงในการถูกโจมตี

ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งเสียชีวิต ทุพพลภาพ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) รวมทั้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดแนวทางตามระเบียบราชการในการช่วยเหลือประชาชนโดยจัดสรรงบประมาณและกองทุนต่างๆที่สามารถจัดหาได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า จากข่าวที่ปรากฏว่ากัมพูชามีการโจมตีในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาเจนีวา และเป็นการปฏิบัติอย่างไรมนุษยธรรม ซึ่งประเทศไทยประท้วงและประนามอย่างรุนแรงต่อการกระทำนี้
พล.ร.ต.สุรสันต์ ยังกล่าวว่า เมื่อเวลา 08.30 น.ของวันนี้(25 ก.ค.) ฝ่ายกัมพูชายังมีใช้อาวุธหนักและอาวุธไกลโจมตีขอบหน้าพื้นที่การปะทะ และพื้นที่ส่วนหลังของฝ่ายไทย ทำให้มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ และโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบด้วย จากการพิสูจน์ทราบในวันนี้การปะทะยังคงมีอยู่ในพื้นที่ 12 แห่ง อาทิ พื้นที่ช่องบก ,พื้นที่ช่องอานม้า , พื้นที่ซำแต , จุดตรวจการณ์ภูผี,ช่องตาเฒ่า , เขาพระวิหาร บริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ , ภูมะเขือ, ช่องจอม, พื้นที่ปราสาทตาควาย และพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม
ด้านนางมาระตี กล่าวแสดงความเสียใจอย่างยิ่งในนามของกระทรวงการต่างประเทศ จากเหตุปะทะที่เริ่มต้นโดยฝ่ายกัมพูชา การสูญเสียครั้งนี้รวมถึงพลเมืองบริสุทธิ์และเด็ก นอกจากจะละเมิดกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการละเมิดศีลธรรมและการเป็นมนุษย์และควรที่จะได้รับการประณามอย่างเต็มที่ โดยประชาคมระหว่างประเทศ ย้ำว่าการตอบโต้ของฝ่ายไทยจะมีความชัดเจน ความเหมาะสมตามข้อ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
สำหรับสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังติดตามอยู่มี 5 ประเด็น คือ 1. แถลงการณ์สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้(24 ก.ค.) หลังจากที่กัมพูชาเปิดฉากยิงฝ่ายไทยเป็นการโจมตีรุนแรงต่อเนื่อง และไม่ได้มีเป้าหมายทางทหาร แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายแต่พลเรือนชาวไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน และสถานที่สาธารณะที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลทำให้มีผู้เสียชีวิต และที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย และกระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำของกองทัพกัมพูชา และลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศไทย และให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับประเทศเช่นกัน เพราะการกระทำของกัมพูชาเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงซ้ำๆ ตั้งแต่ทหารไทยเหยียบกับระเบิด
พร้อมเรียกร้องให้กัมพูชารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยุติการโจมตีเป้าหมายพลเรือน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของฝ่ายกัมพูชาเป็นการละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาเจนนีวาฉบับที่หนึ่ง เกี่ยวกับการคุ้มครองโรงพยาบาล และฉบับที่สี่ เกี่ยวกับการคุ้มครองหน่วยแพทย์ รวมถึงเป็นการกระทำที่ขาดมนุษยธรรมต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์
นางมาระตี ยังกล่าวว่า นางมาระตี กล่าวว่า 2.ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงเรื่องการหารือกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมการแผนช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในกลุ่มกัมพูชา โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศได้สั่งการให้เชิญภาคเอกชนพร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือคนไทยในกัมพูชากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่ง รมว.ต่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเองทางออนไลน์จากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้ รมว.ต่างประเทศอยู่ที่นั่น โดยทุกภาคส่วนได้ยืนยันความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนไทยที่อยู่ในกัมพูชาทุกคน
นางมาระตี กล่าวว่า 3.การส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ตอบโต้ฝ่ายกัมพูชา ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวว่าฝ่ายกัมพูชาได้ส่งหนังสือถึงประธานยูเอ็นเอสซี ขอให้เรียกประชุมด่วนเพื่อยุติเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายรุกรานอธิปไตยของกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ ฝ่ายไทยโดยกระทรวงต่างประเทศได้มีหนังสือถึงยูเอ็นเอสซีเช่นกันเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยมีหลักฐานว่าฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน และมีการใช้ความรุนแรงจนพลเรือนฝ่ายไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นการรุกรานอธิปไตยเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน ไทยขอให้ประธานยูเอ็นเอสซีเวียนหนังสือของฝ่ายไทยที่เป็นเอกสารทางการของยูเอ็นเอสซีเพื่อให้สมาชิกทุกประเทศได้รับทราบด้วย โดย รมว.ต่างประเทศของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ที่นครนิวยอร์กได้มีโอกาสได้พบกับบุคคลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนของประเทศปากีสถานซึ่งเป็นประธานของยูเอ็นเอสซีในเดือน ก.ค. และยังได้พบกับผู้แทนปานามา ซึ่งจะเป็นประธานยูเอ็นเอสซีในเดือน ส.ค. เพื่อที่จะชี้แจงจุดยืนและนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และและยังได้พบกับเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อีกด้วย
นางมาระตี กล่าวว่า ล่าสุดทราบว่า วันนี้(25 ก.ค.) ในเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก ยูเอ็นเอสซีจะจัดประชุมแบบปิดเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งการประชุมในลักษณะนี้จัดขึ้นเป็นปกติเมื่อมีเหตุการณ์ปะทะระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตรงจุดไหนก็แล้วแต่ในโลกนี้ และไม่ใช่เป็นการประชุมเพื่อลงมติใดๆ เป็นเพียงการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยเชิญคู่กรณีพร้อมกับสมาชิก 15 ประเทศ ทั้งสมาชิกถาวรและไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซีไปให้ข้อมูล ให้เป็นที่รับทราบ โดยผู้เข้าร่วมจะเป็น 15 สมาชิกของยูเอ็นเอสซีและคู่กรณี ในกรณีนี้คือ ไทยกับกัมพูชา สำหรับฝ่ายไทยจะเป็นเอกอัครราชทูตที่ประจำอยู่ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งมีทีมงานที่สนับสนุนท่านและมีการประสานงานอยู่เป็นประจำกับกระทรวงการต่างประเทศที่ประเทศไทย โดย 1-2 วันที่ผ่านมา รมว.ต่างประเทศได้พบปะกับหลายๆ คนเพื่อจะชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย รมว.ต่างประเทศจะเดินทางกลับประเทศไทยในคืนนี้ (25 ก.ค.) โดยน่าจะมีการรายงานต่อสื่อว่า มีการพบกับใคร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และที่ประชุมของยูเอ็นเอสซีได้มีการพูดคุยอะไรกันบ้าง อย่างมากอาจจะมีการแถลงการณ์เพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นมติของที่ประชุม เพื่อที่จะเรียกร้องให้ยุติการปะทะกัน โดยเฉพาะเป้าหมายที่เป็นพลเรือน ซึ่งเป็นหลักสากลสำคัญของที่ประชุม
นางมาระตี กล่าวว่า สื่อต่างประเทศมีความสนใจ และติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทราบว่าได้มีการส่งทีมงานของสำนักข่าวสื่อต่างประเทศลงในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ติดตามสถานการณ์ และรายงานให้ประชาคมโลกได้รับทราบ ทั้งนี้ ในวันนี้ (25 ก.ค. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น รอยเตอร์เอเอฟพี อัลจาซีรา เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงและแนวทางการดำเนินการของประเทศไทยให้ต่างประเทศรับทราบอย่างครอบคลุมทั่วโลกอีกด้วย จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจได้ว่ากระทรวงต่างประเทศกำลังทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสื่อสารเรื่องราวและท่าทีของไทยไปสู่ต่างประเทศอย่างชัดเจนอยู่ตลอดเวลา และ 5.กรณีมีข่าวปลอมซึ่งเป็นเอกสารของกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์แห่งกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพไทยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ได้กระทำการรุกรานสร้างความเสียหายให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองแหล่งวัฒนธรรมภายใต้กรอบยูเนสโก อย่างไรก็ตาม การปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยกับกัมพูชาในวันที่ 24 ก.ค.โดยฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยิงก่อน เกิดขึ้นที่เขาพระวิหาร (บริเวณห้วยตามาเรีย-ภูมะเขือ) อยู่ห่างจากตัวปราสาทพระวิหารถึง 12 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดสามารถเดินทางไปไกลถึงปราสาทพระวิหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ฝ่ายไทยจะชี้แจงโดยออกหนังสือเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศรายหนึ่งนำเสนอภาพการโจมตีเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม ปตท.ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่าเกิดขึ้นในสถานที่แห่งหนึ่งของกัมพูชา ซึ่งเป็นข่าวปลอม ทางกระทรวงการต่างประเทศจะเดินหน้าติดตามข่าวปลอมในลักษณะนี้ต่อไป เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงกับสำนักข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นางมาระตี กล่าวช่วงท้ายว่า ขอส่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ทางรัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ ทางฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายพลเรือน จะดำเนินการทั้งในด้านความมั่นคง การทูต การบริหารจัดการในพื้นที่ชายแดน ตลอดจนมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อปกป้องอธิปไตยผลประโยชน์ของชาติ และท่าทีไทยในเวที โลกอย่างเต็มกำลัง
นอกจากนี้ ขอฝากประชาชนว่าท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เราต้องพยายามแยกแยะระหว่างการดำเนินการของฝ่ายรัฐบาล กองทัพของไทย กับของกัมพูชา และประชาชนทั่วไป .-316 -สำนักข่าวไทย