เวียดนาม 16 พ.ค.- นายกฯ ไทย-เวียดนาม ร่วมกันเป็นสักขีพยานแลกเปลี่ยนความตกลง 8 ฉบับ ครอบคลุมการค้า การลงทุน การป้องกันยาเสพติด ส่งเสริมจัดทำแผน “Three Connects” ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น มุ่งบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว ผลักดันการประชุม Joint Trade Committee อำนวยความสะดวกสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ขณะที่ ไทย เปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเวียดนามกับภาคอีสาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว
วันนี้ (ศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2568) เวลา 11.15 น. ณ ห้องโห่ย เจื่อง (Hoi Truong) ทำเนียบรัฐบาลเวียดนาม กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงและเอกสาร ระหว่างไทยกับเวียดนาม จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่
(1) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า
(2) กิจกรรมส่งมอบงบประมาณสนับสนุน โครงการเสริมสร้าง และยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการสกัดกั้น ยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
(3) บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กับธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาแห่งเวียดนาม (Bank for Investment and Development of Vietnam: BIDV) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่
(4) เอกสารแสดงเจตจำนงระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับ มหาวิทยาลัย FPT เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการฝึกอบรมเซมิคอนดักเตอร์
(5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และการค้าเวียดนามกับ Central Group ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2026 – 2028
(6) บันทึกความเข้าใจระหว่าง WHA กับจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen)
(7) การประกาศการอนุมัติใบอนุญาตการลงทุนของ WHA โดยจังหวัดทั้ญฮว้า (Thanh Hoa)
(8) บันทึกความเข้าใจระหว่าง AMATA Vietnam กับจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho)
จากนั้น นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยนางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลเวียดนามในการต้อนรับที่อบอุ่น สำหรับการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และได้ร่วมเป็นประธานการประชุม JCR ซึ่งถือเป็นกลไกเฉพาะระหว่างสองประเทศ โดยในการเยือนครั้งนี้ ไทยและเวียดนามได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน
ในการหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในหลายประเด็นสำคัญ คือ การส่งเสริมการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้นำเวียดนามเข้าร่วมการประชุมผู้นำแม่โขง–ล้านช้างที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ รวมถึงการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปีในปีหน้า
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกัน ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการต่อต้านยาเสพติด ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ online scams การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการสกัดกั้นสารเคมีตั้งต้น การปราบปรามขบวนการค้ายา และการแลกเปลี่ยนข่าวกรองเพื่อสกัดอาชญากรรมข้ามพรมแดน
ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ด้วยการจัดทำแผน “Three Connects” ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว พร้อมผลักดันการประชุม Joint Trade Committee และอำนวยความสะดวกด้านสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าผ่านเวียดนามสู่ตลาดจีน โดยนายกรัฐมนตรีไทยยังได้ขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ให้การสนับสนุนเอกชนไทยในเวียดนาม และยินดีต้อนรับนักลงทุนเวียดนามที่สนใจขยายธุรกิจในไทย
นายกรัฐมนตรี ยังยินดีที่ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะได้มีโอกาสหารือในเวที Business Forum ไทย–เวียดนาม ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายของวันนี้(16 พ.ค.)
ขณะที่ในด้านโลจิสติกส์และคมนาคม นายกรัฐมนตรี ประกาศการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเวียดนามกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศแรกของภาคตะวันออกเฉียงหนือกับเวียดนาม พร้อมส่งเสริมการเดินทางทางบกผ่าน สปป.ลาว และทางน้ำระหว่างไทย–กัมพูชา–เวียดนาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ขณะที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการชำระเงินข้ามแดน หรือ คิวอาร์โค้ด พร้อมร่วมกันผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับเวียดนาม และส่งเสริมเส้นทางเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์–ไทย–เวียดนาม
อีกทั้งยังจะเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในสาขา STEM, AI และเซมิคอนดักเตอร์ โดยนายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย FPT ของเวียดนาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นของไทยในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำเจตจำนงในการผลักดันความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค และสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในประเด็นเมียนมา พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีเวียดนามอีกครั้ง และหวังว่าจะได้ต้อนรับการเยือนประเทศไทยของผู้นำเวียดนามในโอกาสอันใกล้ .-316 -สำนักข่าวไทย