นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ ASEAN Economic Outlook 2025

โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ 7 ต.ค.- นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ ASEAN Economic Outlook 2025 เน้น ความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน มองเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เร่งผลักดัน GDP ประเทศสมาชิก ชู จุดเด่นไม่มีความขัดแย้งเหมาะลงทุน เตรียมใช้เวทีอาเซียนซัมมิทหารือปัญหาน้ำท่วม-โลกเดือด


เมื่อเวลา 09.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand Economic Big Move” ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ณ ห้องฉัตราบอลรูม ชั้น 2 โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า อายุ 38 ถ้าอยู่ในธุรกิจอื่นจะไม่มีใครบอกว่าอายุน้อย แต่พอมาอยู่ในวงการการเมืองอายุ 38 ปี ถือว่าอายุน้อย แต่ไม่ว่าอายุเท่าไหร่หากเปิดโอกาสในการทำงานคิดว่าจะมีพลังและไอเดียใหม่ๆเข้ามา พร้อมกับคนรุ่นก่อนที่จะมา Support เป็นที่ปรึกษาได้ จึงอยากให้ประเทศไทยค่อยๆเปลี่ยนแปลงและตอนนี้เห็นได้ชัดในหลายองค์กรว่ามีคนทุกอายุเพิ่มมากขึ้น


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสัปดาห์ที่แล้ว ตนเพิ่งกลับมาจากการประชุม ACD (Asia Cooperation Dialogue) ที่ประเทศกาตาร์ เวทีนี้เป็นเวทีสำคัญเพราะกรอบการพูดคุยเป็นเรื่องความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก (New Multipolar World Order) ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศเริ่มต้นเวทีนี้ และปีหน้าเรา จะเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม

ปีนี้เป็นปีที่ 57 ของอาเซียน เราสร้างความร่วมมือนี้มามากกว่าครึ่งศตวรรษ ที่ผ่านมาอาเซียนได้ปรับตัว เปลี่ยนแปลงเป้าหมายและแนวทาง ไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี อยู่ตลอดเวลา

อย่างในช่วงก่อตั้งราวทศวรรษที่ 1960 ปัญหาความขัดแย้งและสงครามยังเป็นปัญหาหลักในภูมิภาคของเรา อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นคง


หลังจากนั้นอาเซียนได้เปลี่ยนแปลงแนวทางโดยนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า จนสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานมาถึงปัจจุบัน

และในช่วงทศวรรษที่ 1990 อาเซียนที่นำโดยประเทศไทยได้พัฒนาตัวเอง เป็นเขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน กับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ อย่าง APEC ก็เกิดขึ้นในยุคนั้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาถึงวันนี้ตนขอใช้เวทีนี้มาเล่าให้ทุกท่านฟัง ถึงเป้าหมายของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศสมาชิก ที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อทศวรรษต่อไปของอาเซียน โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น

คือ อย่างแรกเรื่อง GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในวันนี้มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือ 119 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวอีก 4-5% ต่อปีต่อเนื่องในอนาคต เป็นตลาดอันดับ 5 ของโลก และมีประชากร กว่า 670 ล้านคน อาเซียนจึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

ในเวลานี้ อาเซียนจำเป็นต้องปลดล็อคศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยประเทศสมาชิกจำเป็นต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอาเซียน มีกฎเกณฑ์การค้า การลงทุน และการเก็บภาษี สอดคล้องไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งภูมิภาคเพื่อทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การลงทุนในประเทศสมาชิกหรือ ประเทศไทย จะเท่ากับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น
 
ประเด็นต่อมาคือ อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ (Peace and Prosperity) เป็นจุดเด่นสำคัญซึ่งเหมาะแก่การลงทุน และเป็นจุดที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ดี เป็นพื้นที่เจรจาลดความขัดแย้งของโลก โดยเฉพาะในเวลานี้ที่โลกกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรง

ในขณะที่อาเซียนมีจุดเด่นที่สนับสนุนการค้าการลงทุนอย่างเสรี หลายประเทศที่แม้มีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถทำมาหากินกันได้ไม่มีปัญหาในภูมิภาคอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากประเทศจีน กระจายการลงทุนในประเทศอาเซียนในหลายด้าน นอกจากนี้ นักลงทุนจากสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็ให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนด้านสินค้าเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และการลงทุนสร้าง Data Center ของ Google ไปจนถึงการผลิตมือถือและคอมพิวเตอร์ของ Apple

อาเซียนยังมีบทบาทในการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง เช่น การใช้ประเทศไทยเป็นเวทีเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้

แต่อาเซียนยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศสมาชิกคือ ปัญหาการสู้รบในเมียนมา นี่เป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนต้องแก้ไขให้ได้
ดังนั้นอาเซียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำความสงบสุขกลับมาในประเทศเมียนมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งเราจะเน้นการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายอันวา อิบราฮิม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานของอาเซียนในปีหน้า รวมถึงใช้กลไกทางการทูตเพื่อแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด
 
ประเด็นต่อมา คือ การขนส่ง ที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอาเซียน ในอนาคตอาเซียนจะต้องเชื่อมต่อระบบการขนส่งระหว่างประเทศ ที่อยู่บนผืนแผ่นดินเอเชีย เชื่อมเข้าด้วยกันให้ทั้งระบบเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งสินค้าติดต่อกันได้สะดวก เราต้องพัฒนาโครงสร้างคมนาคมร่วมกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สร้างถนน สร้างรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งพัฒนาท่าเรือ

ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการทั้ง รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และ แลนด์บริจน์ ที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ภาพที่เรามองเห็นคือสินค้ามากมายหลายรูปแบบ รวมถึงภาพของท่าเรือขนาดใหญ่ที่เชื่อม 2 มหาสมุทร อ่าวไทย และ อันดามันเข้าด้วยกัน  จะลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิตให้กับทุกธุรกิจ และอนาคตอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งอีกแห่งนึงของโลก

ประเด็นที่สุดท้าย ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กลายเป็นโลกเดือดไม่ใช่ภาวะโลกร้อน เพราะความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี รวมถึงไทย ก็ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาน้ำท่วม เช่น เชียงราย ตนได้ลงพื้นที่ไปเห็นด้วยตาตัวเอง อยากให้ลองคิดว่า ถ้าบ้านของเราถูกเคลือบด้วยโคลนทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะปีนี้ปีหน้าอาจเกิดขึ้นอีก ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะโลกเดือดที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คาดคิด เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่าจะป้องกันได้แค่ไหน เพราะปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไขหลายปีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเขื่อนหรือไม่ หรือจะสร้างแบริเออร์ ซึ่งการซ่อมแซมไม่นานแต่การสร้างต้องมีการศึกษาและต้องแผน A B C เพื่อที่จะรอเวลาในการสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ในประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังเร่งรัดนโยบายเพื่อให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ตน จะนำไปหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประเทศลาวในงานประชุมที่จะเริ่มขึ้นวันพรุ่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ Master Plan ของ ASEAN Connectivity 2025 ที่มี 3 แกนวิธีคิดหลักคือ
1.การเชื่อมโยงทางกายภาพ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
2.การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ มุ่งหวังที่จะปรับนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรฐานให้สอดคล้องกันในประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน
3.การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เน้นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้มีความสะดวกเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอนาคตอาเซียนร่วมกับประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน
 
อาเซียนเราเป็นภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก รวมถึงสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับคู่ค้าทั่วโลก เป็นภาพสะท้อนแนวคิดที่ว่าการอยู่ร่วมกันโดยสามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ ASEAN together is much more than the sum of its parts

.-316 -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นร.หญิง ม.1 จมทะเลดับ หลังโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่ระยอง

โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ จ.ระยอง นักเรียนหญิง ม.1 ถูกคลื่นดูดลงทะเลขณะเล่นน้ำ เสียชีวิต พ่อแม่สุดเศร้าสูญเสียลูกสาวคนเดียวของครอบครัว

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง

น้ำท่วมขนส่งเชียงใหม่กระทบผู้โดยสาร เปิดจุดจอดรับ-ส่งชั่วคราว

น้ำขยายวงกว้างเข้าท่วมสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 และ 3 เต็มพื้นที่ ระดับน้ำสูงเกือบ 50 ซม. ผู้ประกอบการขนส่งต้องนำรถทัวร์โดยสารออกมาจอดรับ-ส่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ยืนยันผู้ประกอบการยังให้บริการตามปกติ

ระทึก! แท็กซี่พลิกคว่ำเกิดเพลิงไหม้ 5 ชีวิตรอดหวุดหวิด

รถแท็กซี่พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้กลางถนนพระราม 9 ผู้โดยสารหญิงสติดีถีบประตูช่วยตัวเองและคนอื่นออกมาจากตัวรถรวม 5 ชีวิตได้ทัน แต่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1 คน เป็นคนขับแท็กซี่ ตำรวจเร่งสอบสวนหาสาเหตุ

ข่าวแนะนำ

น้ำท่วมเชียงใหม่

ถ.ช้างคลาน ย่านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ ยังมีน้ำท่วมขังสูง

จ.เชียงใหม่ แม้ระดับน้ำลดลงบ้างแล้ว แต่ยังมีฝนตกลงมาซ้ำเติม อย่างถนนช้างคลาน ย่านเศรษฐกิจและที่ตั้งของโรงแรมหลายแห่ง ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ตลอดทั้งสาย รถเล็กสัญจรได้ยากลำบาก

ไทยตอนบนฝนน้อย-อีสานอากาศเย็นตอนเช้า

กรมอุตุฯ เผยประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย โดยภาคอีสานมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง 20%

กต.ย้ำมีแผนพร้อมอพยพคนไทยในอิสราเอล-เลบานอน

กต.ประชุมประเมินสถานการณ์อิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ย้ำมีแผนอพยพพร้อม เผย 5 แรงงานไทยเตรียมเดินทางกลับ แนะประชาชนตัดสินใจก่อนน่านฟ้าปิด