กทม. 28 พ.ย.- “ชัยวัฒน์” มองแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลยังวนเวียนอยู่ในวิธีการเดิม-ขาดรายละเอียดสำคัญหลายเรื่อง ชี้ต้องบังคับใช้กฎหมายจัดการเจ้าหนี้นอกระบบจริงจัง เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อการแถลงข่าวของรัฐบาลในวาระการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสนใจต่อการแก้ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม วิธีการที่รัฐบาลจะนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบครั้งนี้ มีการปฏิบัติมาแล้วหลายครั้งในหลายรัฐบาล แต่ปัญหากลับไม่ได้คลี่คลายลง อีกทั้งการแถลงข่าวในวันนี้มีองค์ประกอบ 4 ส่วนที่ยังคงขาดรายละเอียดและความชัดเจนว่าแตกต่างจากมาตรการเดิม ๆ ที่ผ่านมาอย่างไร คือ
1) ผู้กำกับและและนายอำเภอในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไร และผู้ช่วยวางแผนการเงินจะเป็นใคร
2) การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแปลงหนี้นอกระบบส่วนที่สามารถแปลงได้ ให้เป็นหนี้ในระบบ จะใช้งบประมาณจากส่วนใด เป็นวงเงินเท่าไหร่
3) การสร้างระบบสินเชื่อที่เปิดให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีกครั้งเพื่อตัดตอนหนี้นอกระบบ มีรายละเอียดอย่างไร
4) การปรับปรุงข้อด้อยต่าง ๆ ของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (pico finance) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (nano finance) เดิม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจต่อเจ้าหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ มีรายละเอียดอย่างไร
นอกจากนี้ ถึงแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (สายด่วน 1599) มาตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 แต่ปัญหาหนี้นอกระบบก็ไม่ได้ลดลง ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอให้นายกฯ ลงไปดูในรายละเอียดว่าการแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพเพราะอะไร โดยมาตรการของรัฐบาลในรอบนี้ได้เพิ่มบทบาทให้ผู้กำกับสถานีตำรวจและนายอำเภอลงไปทำงานระดับท้องถิ่นด้วย ซึ่งก็ต้องมีการติดตามต่อไปว่าจะแก้ปัญหาเดิมได้หรือไม่
ชัยวัฒน์กล่าวสรุปว่า ในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งประกอบไปด้วยกระดุม 5 เม็ดที่ต้องติดตั้งแต่เม็ดแรกให้ถูกต้อง คือ
1) เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครองต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่รับส่วย ซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาที่ต้องได้รับการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนที่น้อยจนทำให้ต้องใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง ค่านิยมและระบบที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา และการขาดมาตรการตรวจสอบและลงโทษอย่างจริงจัง
2) การดำเนินคดีอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ผ่านการบังคับใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทลงโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
3) ลดภาระหนี้ด้วยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด
4) เพิ่มทักษะ เพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้นอกระบบ
5) การเพิ่มช่องทางและโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ . 312 .-สำนักข่าวไทย