รัฐสภา 11 ก.ย. – “สุรเชษฐ์” มั่นใจ “รถไฟฟ้า-ตั๋วร่วม 20 บาทตลอดสาย” เหลวแน่นอน แนะเร่งปรับปรุง-อุดหนุนผู้ใช้รถเมล์ก่อน
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยเห็นว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่มีการหาเสียงในนโยบายดังกล่าวหลายครั้ง รวมถึงยังมีรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมถึง 3 คน และยังมีนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่กำกับงบประมาณ ซึ่งหากรัฐบาลตั้งใจจะทำนโยบายดังกล่าวจริง จะต้องบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล แต่กลับไม่มีการบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบาย โดยระบุเพียงว่า จะลงทุนทางถนน รถไฟ ราง และทางอากาศ ไม่มีทิศทางระบุที่ชัดเจน สวนทางกับการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงไว้ 20 บาทตลอดสาย โดยพรรคเพื่อไทย ยืนยันผ่านเว็บไซต์ของพรรคว่า จะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่างๆ ให้เอกชนลดราคา เพื่อให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 20 บาทตลอดสาย ภายใน 3 เดือน ซึ่งนายสุรเชษฐ์ เชื่อว่า แม้บริษัทจะยอม แต่ผู้ถือหุ้นก็ไม่ยินยอม และไม่เชื่อด้วยว่า รัฐบาลจะสามารถเจรจาได้สำเร็จภายใน 3 เดือน ยกเว้นจะใช้เงินอุดหนุน
นายสุรเชษฐ์ ยังมองว่า “นโยบาย 20 บาทตลอดสาย” ที่พรรคเพื่อไทยตั้งใจทำนั้น จะต้องเป็น 20 บาทตลอดเส้นทาง เพราะรถไฟฟ้าของไทยแบ่งสายหลายสี และสามารถข้ามสายได้ รวมถึงตั๋วร่วม 20 บาท หรือค่าโดยสารร่วม ที่ยังไม่ชัดเจน เพราะที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น คือ ค่าโดยสารร่วม 20 บาทตลอดสาย และยังจะต้องอาศัยร่างพระราชบัญญัติตั๋วร่วม ที่จะเป็นเครื่องมือจัดการเงินค่าใช้บริการ ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้มีการพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้น มั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่สามารถทำได้ภายใน 3 เดือนแน่นอน และในอดีตปี 2554 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากพรรคเพื่อไทย ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายอมรับแล้วว่า นโยบายดังกล่าวล้มเหลว ไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นเอกชน และอาจเกิดการฟ้องร้องกันได้
นายสุรเชษฐ์ ยังไม่สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะหากรัฐบาลจะดำเนินการ จะต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก เพื่ออุดหนุนชนชั้นกลางระดับบน ซึ่งมีมากกว่าประชาชนที่ใช้รถโดยสารประจำทางมาก และรัฐบาลควรจะอุดหนุนผู้ใช้รถโดยสารประจำทางก่อน เพราะหากรัฐบาลจะอุดหนุนเงินค่ารถไฟฟ้า ประชาชนที่จะได้ประโยชน์ คือ ประชาชนที่อาศัยบนคอนโดฯ รอบสถานีรถไฟฟ้า และยังมีปัญหาการเดินทางถึงสถานีรถไฟฟ้าที่ยังยากลำบาก ต่อให้รัฐบาลอุดหนุนเงินมาก ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนมาใช้บริการเยอะ เพราะกว่าที่ประชาชนจะเดินทางถึงสถานี ยังมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้รถไฟฟ้า ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทบทวนให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย มากกว่าเส้นเลือดใหญ่. – สำนักข่าวไทย