สำนักงาน กกต. 28 พ.ค. – กกต.เชิญ “เรืองไกร-นพรุจ-สนธิญา” ยืนยันคำร้องและให้ถ้อยคำเพิ่ม กรณี “พิธา” ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี พรุ่งนี้
วันที่ 28 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับผู้มายื่นเรื่องร้องให้ กกต. ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเป็นการกระทำผิดขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ล่าสุดมีความคืบหน้าขั้นตอนการตรวจสอบจาก กกต. โดยในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.66) ช่วงเช้า ทางสำนักงาน กกต.ได้เชิญนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาให้การยืนยันคำร้องดังกล่าว พร้อมทั้งให้ถ้อยคำเพิ่มเติม รวมทั้งยังได้เชิญนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบในกรณีเดียวกัน
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เชิญให้นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มาให้ถ้อยคำในการยื่นเรื่องร้องเรียนเดียวกันด้วย ส่วนกรณีของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คาดว่าสำนักงาน กกต.จะเชิญมาให้ถ้อยคำภายในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า ในวันจันทร์นี้ กกต.เชิญตนไปให้ถ้อยคำเรื่องหุ้นบริษัท ไอทีวี ซึ่งจะถือโอกาสนี้ยื่นหลักฐานอ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2563 จำนวน 1 เรื่อง และคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อปี 2564 จำนวน 4 เรื่อง ซึ่งมีทั้งประเด็นการขอให้วินิจฉัยย้อนหลังไปว่า นายพิธาจะพ้นสมาชิกภาพตั้งแต่ปี 2562 หรือไม่ และจะต้องดำเนินคดีอาญา ตามแนวคำวินิจฉัย กกต. หรือไม่ด้วย
โดยจะเป็นการนำข้อมูลเอกสารมายื่นต่อ กกต. เพื่อเทียบเคียงกรณีของนายพิธา ในกรณีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2563 เป็นกรณีของนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่ศาลวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมกันนี้ ในส่วนของคำวินิจฉัยของ กกต. 4 เรื่อง ในช่วงปี 2564 ที่ กกต. มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีกรณีของผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่
ทั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ รายดังกล่าวได้ยื่นเอกสารสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต่อ กกต. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งยื่นเอกสารวันเดียวกับนายพิธา โดยที่นายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี อย่างไรก็ตาม กรณีของนายพิธา จะแตกต่างจากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้สิ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากถือครองหุ้น มีผลเฉพาะตัวนายธนาธร ขณะที่ในกรณีนายพิธา เนื่องจากได้เขียนข้อบังคับพรรคก้าวไกล กำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามลักษณะเกี่ยวกับการถือหุ้นไว้ ดังนั้น หากนายพิธา ซึ่งเป็นผู้เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส. 400 เขตเลือกตั้งของพรรค หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดสมาชิกภาพ ตั้งแต่วันยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งก็จะมีผลว่า นายพิธาไม่ใช่หัวหน้าพรรค รวมทั้งไม่ใช่สมาชิกพรรคที่มาเซ็นรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล อีกด้วย
ด้านนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.66) ทางสำนักงาน กกต.ได้นัดหมายเชิญตนไปให้การยืนยันคำร้องที่ยื่นต่อ กกต.ให้ตรวจสอบกรณีนายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ในช่วงบ่าย ซึ่งตนเองจะไปยืนยันต่อ กกต. ว่าเป็นการตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้ เลขาฯ ป.ป.ช. มีการแถลงว่า นายพิธาได้ยื่นการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จริง
พร้อมกันนี้ นายสนธิญา ได้ให้ความเห็นว่า โดยตามขั้นตอน ถ้า กกต.มีคำวินิจฉัยว่าให้ส่งเรื่องของนายพิธาไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น หาก กกต.มีการรับรอง ส.ส. ครบร้อยละ 95 ก็จะเป็นขั้นตอนเปิดประชุมสภาฯ และเลือกประธานสภาฯ ซึ่งเมื่อได้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แล้ว ประธานสภาฯ ก็จะเรียกประชุม ส.ส. โดยมีวาระเสนอชื่อและเลือกนายกฯ ทั้งนี้ หากมีการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ แล้วนั้น ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จะเล็งเห็นปัญหาการโหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังตามมา นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นประธานสภาฯ จะเสนอชื่อนายพิธา ให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ นั้น จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่ ถ้าหากหลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า นายพิธา มีปัญหาคุณสมบัติใดๆ ที่กระทบต่อการสมัครรับเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล. – สำนักข่าวไทย