กทม. 13 พ.ค.- เลขาฯ กกต. โพสต์แจง 7 ระบบการตรวจสอบการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต นอกเขตและนอกราชอาณาจักร กลับไปยังเขตเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจะถูกส่งไปเขตได้อย่างไร โดยชี้แจงว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า มีอยู่ 3 ประเภทหลัก คือ 1. นอกราชอาณาจักร 2. ในเขตเลือกตั้ง และ 3. นอกเขตเลือกตั้ง เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้กาบัตรเลือกตั้งและบรรจุบัตรทั้ง 2 แบบลงในซองใส่บัตรเลือกตั้งแล้ว อาจมีข้อสงสัยว่าบัตรเลือกตั้งที่อยู่ในซองจะถูกส่งไปให้ถูกต้องตามเขตได้อย่างไร เรื่องนี้ สำนักงาน กกต.ได้ออกแบบเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง เป็น 7 ขั้นตอน คือ
- ขั้นที่1 “ก่อนลงคะแนน” กปน.ที่อำนวยความสะดวกหน้าหน่วยเลือกตั้ง จะเป็นผู้กรอกข้อความในกระดาษจดลำดับที่ (ติ้วเล็ก) จะมีข้อมูลระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งลำดับที่ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และระหัสเขตเลือกตั้ง คนละอย่างกับรหัสไปรษณีย์และ กปน.ที่ทำหน้าที่หน้าหน่วยเลือกตั้งจะทราบเพียงผู้เดียว มอบให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำไปแสดงตนและรับรับบัตรเลือกตั้งต่อไป
- ขั้นที่สอง “ระหว่างลงคะแนน” เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงตนแล้ว กปน.จะมอบบัตร 2 ใบพร้อมซองใส่บัตรที่ระบุปลายทางถึง ประธานกรรมการเขตเลือกตั้ง จังหวัดปลายทาง เขตเลือกตั้งและรหัสเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กปน.ต้องกรอกข้อมูลตามกระดาษจดลำดับที่เท่านั้น มอบให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนนต่อไป
- ขั้นที่สาม “หลังการลงคะแนน” เป็นการส่งมอบบัตรที่อยู่ในซองระหว่าง กปน.กับ บริษัทไปรษณีย์ไทย กปน.ต้องตรวจความถูกต้องของจำนวนนับ และดูว่ามีการจำหน้าซองสมบูรณ์หรือไม่ เมื่อครบถ้วนแล้วจึงส่งมอบให้ไปรษณีย์
- ขั้นที่สี่ “การมอบซอง” บริษัทไปรษณีไทย เมื่อรับซองมาแล้ว ต้องตรวจสอบจำนวนว่าตรงตามที่ส่งในแบบมอบหรือไม่ และต้องตรวจว่ามีซองใดตกหล่น ที่ไม่ได้จ่าหน้าซองให้สมบูรณ์ ถ้ามีต้องส่งคืนให้ กปน.และกรอกข้อความให้สมบูรณ์ก่อน แล้วจึงรับมอบ ลงนามรับมอบกันตามระเบียบทั้ง 2 ฝ่าย
- ขั้นที่ห้า “การคัดแยก” บริษัทไปรษณีย์ไทย จะทำการคัดแยกเพื่อส่งซองบัตรไปยังเขตต่างๆ 400 เขต ตามหน้าซองที่ระบุใว้ หากมีซองใดที่ระบุข้อความไม่ชัดเจน หรือมีข้อความไม่ครบถ้วน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จะส่งให้ คณะกรรมการที่สำนักงาน กกต.แต่งตั้ง เป็นผู้วินิจฉัยทันทีว่าจะส่งไปยังเขตเลือกตั้งใด แล้วคืนให้ไปรษณีย์เพื่อคัดแยกต่อไป โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะทำงานร่วมกับบริษัทไปรษณี ในห้องมั่นคงตลอด 24 ชั่วโมง ตามกะที่รับผิดชอบ
- ขั้นที่หก “การส่งให้เขต” บริษัทไปรษณีไทยจะส่งซองบัตรเบอกตั้งให้แต่ละเขต จำนวน 400 เขต ตามที่ได้คัดแยกใว้พร้อมลงนามรับมอบเอกสารตามระเบียบทั้ง 2 ฝ่าย
- ขั้นที่เจ็ด “บัตรผิดหลง” กรณีมีบัตรผิดหลงที่เกิดจากการคัดแยก เช่น ผิดจังหวัด ผิดเขต คณะกรรมการเขตเลือกตั้งต้องส่งคืนบริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อส่งไปยังเขตที่ถูกต้องต่อไปโดยให้ทันก่อนเวลานับคะแนนในวันเลือกตั้งก่อนเวลา 17.00 นาฬิกา ทั้งนี้ บัตรประเภทนี้จะมีหน้าซองปลายทางที่ชัดเจน แต่เกิดจากการคัดแยกที่ผิดหลงไปยังเขตอื่น .-สำนักข่าวไทย