กกต. 19 เม.ย.- “สมชัย” ชี้ดูงานเลือกตั้งนอกราชเป็นภารกิจหนึ่งของ กกต.อยู่แล้ว แต่ต้องเลือกไปประเทศที่เหมาะสม ตั้งข้อสังเกต “ไต้หวัน – เกาหลี” มีคนไทยอยู่หลักหมื่นทำไมไม่ไป แต่ไปประเทศที่มีคนไทยแค่หลักร้อย แนะ กกต.ควรเปิดเผยงบดูงานให้มีความโปร่งใส
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในประเทศต่างๆ ว่า ภารกิจของการไปตรวจติดตามการเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นภารกิจหนึ่งของ กกต.อยู่แล้ว จะต้องดูแลให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพียงแต่ว่าจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดที่ต้องกระจายไปประเทศต่างๆ สังคมอาจจะมองว่าไม่ค่อยเหมาะสมนัก รวมถึงการเลือกประเทศ
นายสมชัย กล่าวว่า รับได้กับที่ กกต.ไปดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เนื่องจากเป็นประเทศที่เคยมีปัญหาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอดีต หรือแม้กระทั่งไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีคนไทยอาศัยอยู่รวม 4 แสนคน แต่เส้นทางในยุโรป 2 ประเทศคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมันนี กกต.เคยไปตรวจติดตามแล้ว มองว่าไม่ควรจะไปตรวจซ้ำ ส่วนประเทศฮังการี และสโลวาเกีย มีจำนวนคนไทย 2 ประเทศรวมกันอยู่เพียง 8 พันกว่าคน ซึ่งน้อยมากไม่ควรเลือกเป็นประเทศไปตรวจติดตาม
“ยังมีประเทศอื่นที่สำคัญมากกว่า เช่น ไต้หวัน มีคนไทยอยู่ 8 หมื่นคนทำไมไม่ไป เกาหลีใต้มีคนไทยหลายหมื่นคนทำไมไม่ไป มาเลเซียเคยมีปัญหาในการจัดการในอดีตทำไมไม่ไป ผมมองว่าอาจจะไม่เหมาะสม ส่วนของประธาน กกต.ที่ไปแอฟริกาใต้ เคนย่า และโมร็อกโก ต้องชมว่าท่านได้ใช้ความอุตสาหะเต็มที่ แต่ก็ยังไม่คิดว่าเป็นจุดที่จะมีคนไทยอยู่มากเพียงพอ เช่น โมร็อกโก และเคนย่า มีคนไทยแค่หลักร้อยคน นอกจากนี้ประเทศเคนย่าที่เป็นเจ้าภาพในการส่งบัตรกลับมาประเทศไทย มีคนลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแค่ 171 คน โดยทั้ง 3 ประเทศเป็นประเทศที่มีผลกระทบน้อย ประเทศอียิปต์คนไทยอยู่เยอะกว่าลำดับต้นๆ ในทวีปแอฟริกา ท่านควรจะไป แต่ท่านก็ไม่ได้ไป” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ประเด็นที่อยากให้ กกต.เปิดเผยคืองบประมาณค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเดินทางทั้งหมด แต่ละเส้นทางเป็นจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงเสียงครหาในเรื่องของค่าของที่ระลึกซึ่งมีมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นบาท คืออะไรอย่างไร รวมถึงอยากจะเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งบอกว่ามีระบบที่เป็นดิจิทัลแล้ว ช่วยเปิดเผยด้วยว่าวันนี้เวลานี้คนไทยในต่างประเทศมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ ตัวเลขของกรมการกงสุลที่เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อปี 2565 เปิดเผยแค่รายทวีป แต่ไม่ได้เปิดเผยเป็นรายประเทศ เท่ากับว่าข้อมูลรายประเทศนั้นล่าสุดเป็นข้อมูลเมื่อปี 2563 ซึ่งล้าสมัยมากแล้ว อยากให้กรมการกงสุลเปิดเผยที่ว่าจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรในแต่ละประเทศมีจำนวนเท่าไหร่บ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสว่าคะแนนเหล่านั้นมาถึงประเทศไทยและบัตรจะถูกนับทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย