ทำเนียบฯ 13 เม.ย. – นายกรัฐมนตรีห่วงใยความปลอดภัยประชาชนจากการเล่นน้ำสงกรานต์ กำชับหน่วยงานดูแลผู้จัดกิจกรรมทุกพื้นที่ทั่วประเทศตรวจสอบความปลอดภัยสถานที่จัดงาน ระมัดระวังอุบัติเหตุจาการเบียดเสียดในพื้นที่แออัด รวมถึงไฟดูด ไฟช็อต จากการเล่นอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานถึงบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ว่าประชาชนเริ่มออกมาเล่นน้ำสงกรานต์อย่างคึกคัก เนื่องด้วยอากาศร้อนและการเว้นกิจกรรมไป 3 ปี ในช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน หลายพื้นที่ทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย
ทั้งนี้ จากที่คาดว่าจะมีประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวและไปร่วมงานสงกรานต์ในจุดต่างๆ จำนวนมากนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในประเด็นด้านความปลอดภัยจากการเล่นน้ำ โดยกำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ให้ความสำคัญ ตรวจติดตามผู้จัดงานดูแลให้เกิดความปลอดภัยทุกด้านแก่ผู้ร่วมงาน พื้นที่ใดที่คาดว่าประชาชนจะเข้าร่วมจำนวนมากให้มีการประกาศแนะนำข้อควรระมัดระวังอุบัติเหตุจากการเบียดเสียด การดูแลป้องกันตนเองของผู้เข้าร่วมงานเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ให้มีแผนเผชิญเหตุให้พร้อม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังห่วงใยต่อกรณีอันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต ที่ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าปี 61-62 ประเทศไทยพบผู้ประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตในช่วงวันสงกรานต์ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย สาเหตุมาจากการเล่นน้ำแล้วน้ำกระเด็นไปถูกปลั๊กไฟ สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด เกิดไฟฟ้ารั่ว เมื่อร่างกายเปียกทำให้กระแสไฟสามารถไหลผ่านร่างกายได้ง่าย
ดังนั้น ขอให้มีการกำกับผู้จัดการให้ตรวจสอบเรื่องของระบบไฟฟ้าอย่างเข้มงวด สำรวจบริเวณจุดเสี่ยงโดยรอบ โดยเฉพาะจุดติดตั้งเครื่องตัดไฟ เมื่อเกิดเหตุสามารถหาจุดตัดไฟได้รวดเร็ว ตรวจดูว่าบริเวณที่เล่นน้ำมีปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสี่ยงหรือไม่ หากพบอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมทั้งหากมีการเล่นในอุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟม ควรตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดน้ำ ราวสายน้ำ การฉีดสร้างโฟมให้มีความปลอดภัย กรณีมีขบวนแห่ให้ระวังเกี่ยวสายไฟที่พาดผ่านตามเส้นทาง
ในส่วนของประชาชนขอให้เล่นน้ำอย่างระมัดระวัง หากตัวเปียกห้ามสัมผัสวัสดุนำไฟฟ้าทุกชนิด เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า กดกริ่งไฟฟ้า เสียบปลั๊กไฟ ชาร์จโทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เสาเหล็ก ราวสะพานลอย ป้ายโฆษณา รวมถึงระวังการเล่นน้ำใกล้เสาไฟฟ้า ในอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม ที่อาจเกิดไฟฟ้ารั่วและช็อตได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องกรณีพบผู้ประสบอุบัติเหตุไฟช็อตว่า อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ที่โดนไฟดูด ซ็อต ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด เช่น ถอดปลั๊ก ปลดสวิตช์หรือคัตเอาต์ ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง เชือกแห้ง พลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง ไม้แห้ง เขี่ยสายไฟออก ผลักหรือดึงตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หากผู้ประสบเหตุหมดสติหรือหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือโทรขอความช่วยเหลือที่ 1669 .-สำนักข่าวไทย