กสม. 26 ม.ค.-กสม. ส่งหนังสือถึงนายกฯ เดินหน้าบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายตามกำหนด ไม่ให้กระทบสิทธิและเสรีภาพประชาชน และความเชื่อมั่นในระดับสากล
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้และนายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถลงว่า ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อเสนอให้เดินหน้าบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายตามกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิและเสรีภาพประชาชน หลัง กสม. ติดตามผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กระทั่งกฎหมายผ่านความเห็นชอบและจะมีผลใช้บังคับ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
นายวสันต์ กล่าวว่า ระหว่างปี 2558 – 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย จากการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว จำนวน 232 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่มายาวนานและไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลาย ด้วยเหตุนี้กสม.จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ยืนยันการมีผลบังคับใช้พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ พ.ศ. 2565 เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์การยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
“รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ สตช. และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้อย่างเหมาะสมต่อไป และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับและจะมีคณะกรรมการกลางมาดำเนินการ ก็จะอำนวยการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับที่ผ่านมาตำรวจเคยมีระเบียบการใช้กล้องในการสอบสวนจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา การใช้กล้องไม่จำเป็นที่ที่จะต้องใช้ หรือตำรวจทุกนายต้องมี เพราะกฎหมายก็มีการยกเว้นด้วยการให้ลงบันทึก ซึ่งระยะเปลี่ยนผ่านอาจไม่สมบูรณ์ แต่หากจะรอให้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์คงไม่ได้ ส่วนเมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้วเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องจะลดลงหรือไม่ นายวสันต์ กล่าวว่าที่ผ่านมา 8 ปี กสม.มีเรื่องร้องเรียน 232 เรื่อง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่านี้เพียงแต่ไม่ได้มีการร้องเรียนหรือเป็นข่าว และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้น่าจะคุ้มครอง ซึ่งเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะลดลง และจะดีกับตำรวจเองเพราะจะมีพยานหลักฐาน ทำให้เห็นว่ามีความโปร่งใสเป็นมืออาชีพมากขึ้น” นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ขยายเวลาการประกาศบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อนด้วยเหตุผลหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง กสม.ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จึงได้จัดเวทีเสวนาวิชาการและระดมความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป เนื่องจากจะส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในระดับสากล กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนี้ นอกจากจะเป็นกฎหมายสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนคดีอาญาด้วย.-สำนักข่าวไทย