กรุงเทพฯ 21 พ.ย.-“พล.อ.ประวิตร” ตั้งคกก.นโยบายพรรค 15 คน “ไพบูลย์”นั่งประธาน กำหนดนโยบายรณรงค์หาเสียง ประชุมนัดแรก 23 พ.ย. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ออกคำสั่งพรรคพลังประชารัฐที่ 132/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้การกำหนดนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย เปิดโอกาสให้ส.ส.ของพรรค สมาชิกพรรค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของทุกภาคส่วน รองรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และตอบสนองต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และประชาคมโลกในปัจจุบัน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนคนไทย ทุกคนอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17 (1)(ซ)
สำหรับคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย 1. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมการ 2.พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองประธานกรรมการ 3. นายอัครวัฒน์ อัศวเหม กรรมการ 4.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ กรรมการ 5.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ กรรมการ 6. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ กรรมการ 7.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา กรรมการ 8. นายรงค์ บุญสวยขวัญ กรรมการ 9.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ กรรมการ 10.น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ กรรมการ 11. พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ กรรมการ 12. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ กรรมการ 13. นายบุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการ 14 นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการ 15 รศ.ดร.พรรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ กรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบาย มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1.ศึกษาและจัดทำร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง เสนอหัวหน้าพรรคพิจารณา เพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติม ให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน รวมทั้ง นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป 2.จัดให้มีการรับฟัง แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นจาก ส.ส.ของพรรค สมาชิกพรรค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษา และจัดทำร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่าง ๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับชาติ
3.จัดทำเอกสารประกอบนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 4.แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย 5. รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการในทุกขั้นตอนต่อหัวหน้าพรรคโดยตรง 6.ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่นตามที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย โดยนายไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการฯ เตรียมประชุมนัดแรก วันที่ 23 พ.ย.นี้ เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา.-สำนักข่าวไทย