ทำเนียบ 16 พ.ย. – นายกฯ และ ปธน.เวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง พร้อมแถลงข่าวร่วม เน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันอย่างรอบด้าน ขับเคลื่อนแนวทาง “Three Connects” รวมพลังทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
พลเอกประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายเหวียน ซวน ฟุก (H.E. Mr. Nguyen Xuan Phuc) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมคณะ ร่วมหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 5 ฉบับ ได้แก่
- แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งไทย – เวียดนามในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2565-2570)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในคดีแพ่ง
- บันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างราชอาณาจักรไทยกับนครดานัง
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม และ
- สัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ เอ็กซิมแบงค์ กับธนาคารพาณิชย์เพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเวียดนาม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมเวียดนามในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยการเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไทย เวียดนาม และประเทศในภูมิภาคต่างกำลังเผชิญความท้าทายทางการเมืองและเศรษฐกิจจากความผันผวนในสถานการณ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศกำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทั้งสองประเทศจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนการเร่งฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะมีกิจกรรมทางธุรกิจไทย-เวียดนาม นักธุรกิจของทั้งสองประเทศจะมารวมตัวกันกว่า 300 คน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเปิดศักราชใหม่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในโอกาสที่จะครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในปีหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เรียนเชิญ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และจะประสานงานเพื่อจัดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ครั้งที่ 4 ที่เวียดนาม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการหารือด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน โดยจะแลกเปลี่ยนการเยือนและการปรึกษาหารือในกรอบและกลไกด้านการเมือง ความมั่นคง และการทหาร ทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
รวมถึงผลักดันความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมของทั้งสองประเทศและภูมิภาค ครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงทางคมนาคม การเงินการธนาคาร และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งจะเร่งอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามจะรวมพลังทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไปข้างหน้ายิ่งขึ้น ตามแนวทาง “ทรีคอนเน็กซ์” (Three Connects) คือ 1. การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในสาขาที่เกื้อกูลกัน 2. การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสานของไทยกับภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม และ 3. การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะ BCG กับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนาม
ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชน และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบ ACMECS และอาเซียน เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง พร้อมให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของอาเซียน
รวมทั้งไทยและเวียดนาม มีเป้าหมายเดียวกันในเรื่องเมียนมา คือ ต้องการให้คลี่คลายสถานการณ์และความเป็นปกติสุขกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็ว โดยเชื่อว่าการดำเนินการของอาเซียนตามแนวทาง ASEAN Way บนพื้นฐานของความร่วมมือ การปรึกษาหารือกัน และฉันทามติร่วมกัน (Cooperation, Consultation, Consensus) จะคลี่คลายปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเยี่ยมชมการจัดแสดงผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและหัตถศิลป์ของไทย ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก .-สำนักข่าวไทย