กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 สิ้นสุดลงแล้ว โดยที่ประชุมรับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก ที่ไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจา เพื่อมุ่งสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา
คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2565 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Actions for Nature to Achieve the Sustainable Development Goals” ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ ในการรับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก และจะเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งกระบวนการเพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (Intergovernmental Negotiating Committee : INC) ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาในข้อมตินี้ ภายใต้นโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งระบบของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันที่จะมีการจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ah-hoc open-ended working group : OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ภายใน 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 และการกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) ครั้งแรก ภายใน 6 เดือนหลังของปี พ.ศ. 2565 อีกทั้งยังได้มีการรับรองรายงานการประชุม UNEA 5.2 รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) และรับรองข้อมติ (Resolution) จำนวน 14 ข้อมติ และ 1 ข้อตัดสินใจ (Decisions) ซึ่งประเทศไทยได้เป็นผู้ร่วมอุปถัมภ์ ข้อมติ จำนวน 4 ข้อมติ ได้แก่ 1) Resolution on the Sound Management of Chemicals and Waste 2) Resolution for a Science-Policy Panel to contribute further to the sound management of chemicals and waste and to prevent pollution 3) Resolution on the environmental dimension of a sustainable 4) resilient and inclusive post COVID-19 recovery และ Resolution on an Enhancing Circular Economy as a contribution to achieving sustainable consumption and production
ในเวทีการประชุม UNEA 5.2 ครั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย (National Statement) ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านมลพิษ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้แนวทาง Bio-Circular-Green Economic Model (BCG) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และได้เข้าร่วมการเสวนา Leadership Dialogue with MEAs เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ในหัวข้อ “Strengthening Actions for Nature to Achieve SDGs” โดยแสดงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนการบูรณาการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการทำงานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย