กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – ทช. จับมือสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า พัฒนาระบบลาดตระเวนทางทะเล นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเข้ามาใช้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทช. ลงนามร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยเพื่อพัฒนาโครงการการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (SMART Marine Patrol) เพื่อนำเทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการใหม่ๆ มาพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่กำหนดให้ใช้การพัฒนางานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) ข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานถูกต้องแม่นยำและทันสมัย
ที่ผ่านมา ทส. นำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ใช้ตรวจสภาพป่าไม้ซึ่งให้สามารถทราบถึงสถานการณ์ได้ตามเวลาจริง จึงเห็นควรให้ทช. พัฒนางานด้านลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเลด้วย
นายโสภณ กล่าวต่อว่า ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพคือ ระบบการลาดตระเวนพื้นที่ที่จัดการฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการจัดเก็บ สืบค้น วิเคราะห์ และรายงานผลการลาดตระเวนงานด้านการป้องกันและปราบปราม และการลักลอบกระทำผิดต่อทรัพยากรผ่านโปรแกรม SMART ซึ่งสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยมีความรู้ ประสบการณ์ในด้านการสำรวจและฝึกอบรมด้านการลาดตระเวนและบริหารจัดการสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล จึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและปราบรามการกระทำผิดแก่เจ้าหน้าที่และยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากเช่น โครงการพัฒนาการสำรวจและติดตามพะยูน ภายใต้แผนพะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) หุ่นยนต์อัจฉริยะในการดักขยะปากแม่น้ำ (SCG-DMCR Smart litter trap) เพื่อป้องกันสัตว์ทะเลได้รับอันตรายจากการกินขยะเข้าไป จนเป็นเหตุให้เจ็บป่วยและตายอย่างที่ผ่านมา . – สำนักข่าวไทย