ชลบุรี 13 ก.ย. – ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) สั่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือลูกช้างป่าป่วย ลักษณะผอม ขาดน้ำ รวมถึงมีแผลที่ปากและงวง สัตวแพทย์ยิงยาซึม แล้วให้ยาเพื่อรักษา หลังจากฟื้นตัว ลูกช้างกลับเข้าป่า จึงให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการลูกช้างป่าป่วยที่พบในพื้นที่เขาตะแบก หมู่ 12 ตำบล โป่งน้ำร้อน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สัตวแพทย์รักษาเบื้องต้นให้แล้ว
ทั้งนี้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติและหัวหน้าหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พร้อมทั้งทีมสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน รวมถึงเจ้าหน้าที่เข้าค้นหาลูกช้างป่าที่เชื่อว่า มีปัญหาสุขภาพ เมื่อพบตัวลูกช้างป่าจึงเตรียมยิงยาซึม แต่ลูกช้างป่าวิ่งหนีเข้าป่าทึบ
ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนแผนการทำงาน โดยการใช้วิธีผูกเปลบนต้นไม้ในการซุ่มยิงยาซึมแทนการเดินตามหาตัวลูกช้างในป่า พร้อมทั้งจัดเตรียมทีมคุ้มกันเพื่อป้องกันโขลงช้างป่าที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ
เมื่อยิงยาซึมได้สำเร็จ ทีมสัตวแพทย์เข้าถึงตัวลูกช้างป่า แล้วตรวจร่างกายโดยละเอียด พบว่า ลูกช้างป่ามีอาการผอม (Body condition score) อยู่ที่ 2/5 คะแนน มีอาการขาดน้ำจากการที่ลูกตาภายในเป้าตาจมลึก พบแผลในช่องปากและงวงโดยแผลนั้นเป็นแผลที่มีการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาทดแทนแล้ว ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย การขับถ่ายเป็นก้อนปกติ
จากการจากตรวจลักษณะภายนอกร่างกายทีมสัตวแพทย์ลงความเห็นว่า ลูกช้างป่าตัวดังกล่าวนี้มีความผิดปกติทางด้านสุขภาพจากการที่เป็นแผลในช่องปากและงวงส่งผลทำให้การกินอาหารลดลงทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร จึงรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ ยาบำรุงร่างกาย ยาบำรุงกล้ามเนื้อ ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำพร้อมกับวิตามิน ทำความสะอาดบาดแผลในช่องปากและงวง และดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือด ตัวอย่างสวอปในช่องปาก สวอปทางทวารหนักและเก็บมูลลูกช้างป่าส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาโรคแทรกซ้อนในร่างกายของลูกช้างป่าสำหรับประกอบการรักษาในครั้งถัดไป
สัตวแพทย์ได้ให้ยาฟื้นจากยาซึมและพบว่า ลูกช้างฟื้นจากยาสลบได้เป็นอย่างดี โดยเห็นว่า ลูกช้างป่ามีความแข็งแรงเพียงพอที่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในป่าได้ จึงไม่ได้เคลื่อนย้ายออกมาจากป่า ปล่อยให้เดินเข้าป่าทึบไป แต่จัดเตรียมยากินเพื่อถ่ายพยาธิอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 วันและยาบำรุงร่างกายกินต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน โดยเจ้าหน้าที่ซ่อนยาในกล้วยสุกและนำไปวางในจุดที่ลูกช้างป่าอาศัยอยู่ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันทำบ่อน้ำสำหรับลูกช้างป่าในพื้นที่เพื่อชดเชยการขาดน้ำของลูกช้างป่าโดยดำเนินการในจุดที่ลูกช้างป่าอาศัยอยู่
ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กล่าวย้ำว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการของลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่า ร่างกายลูกช้างป่าจะฟื้นตัวกลับมาแข็งแรง.-สำนักข่าวไทย