กาญจนบุรี 23 มี.ค. – กรมอุทยานฯ หารือชุมชนเขตติดต่อ อช. ลำคลองงู หาแนวทางป้องกันทั้งคนและช้างป่าพลัดตกในหลุมยุบ ตามที่มีเหตุช้างป่าแม่ลูกพลัดตกก่อนหน้านี้ จากการสำรวจพบหลุมยุบรวม 11 หลุมที่มีขนาดใหญ่และลึก
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงูได้ร่วมหารือกับประชาชนในชุมชนเหมืองสองท่อ ตำบลชะและ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมเพื่อทำแผนปฏิบัติการกลบหลุมในพื้นที่บ้านเหมืองสองท่อ โดยหลุมดังกล่าวทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่เหมืองเก่า
ก่อนหน้านี้มีช้างป่าแม่ลูกที่ออกมาจากอุทยานแห่งชาติลำคลองงูพลัดตกลงไปในหลุมยุบที่ลึกมาก จนกรมอุทยานฯ ต้องระดมกำลังช่วยเหลือด้วยการทำปากหลุมให้ลาด จนช้างทั้ง 2 ตัวเดินขึ้นมาได้ จากนั้นจึงสำรวจหลุมยุบทั้งหมดพบว่า หลุมยุบที่กว้างและลึกมีมากถึง 11 หลุม ตามแผนเดิมต้องการที่จะกลบหลุมยุบทุกหลุม ซึ่งต้องใช้ดินจำนวนมาก และความลึกของหลุมไม่แน่นอน อาจทำให้กลบปิดหลุมไม่มิด และใช้งบประมาณมาก หากปล่อยไว้เนิ่นนาน อาจมีช้างป่าตกลงไปจนได้รับบาดเจ็บอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านแจ้งว่า เคยมีเด็กและสัตว์เลี้ยงตกลงไปในหลุมยุบด้วย
ล่าสุดกำหนดแนวทางลดโอกาสและความเสี่ยงที่ช้างจะตกไปในหลุมก่อน 3 หลุม ดังนี้
- หลุมที่ 1 จะไม่ปิดปากหลุมไม่ให้ช้างลง แต่จะทำทางลาดเพื่อให้ช้างลงไปแล้วสามารถขึ้นได้เอง
- หลุมที่ 2 เนื่องจากหลุมมีขนาดปากหลุมที่แคบ ลึก ปากหลุมมีก้อนหินขนาดใหญ่ล้อมรอบ จึงต้องจัดหาท่อนไม้และเสาปูนที่ไม่ได้ใช้งานแล้วนำมาปิดปากหลุม ให้แคบลง
- หลุมที่ 3 เป็นหลุมที่มีต้นมะเดื่อและต้นกล้วย ซึ่งดึงดูดให้ช้างมาที่ปากหลุมและเสี่ยงอันตราย จึงได้ล้อมรั้วด้วยลวดหนามเพื่อป้องกันช้างตกหลุม ในระดับความสูงของลวดหนามที่สามารถกันช้างที่มีขนาดต่างกันได้ ซึ่งช้างยังสามารถกินลูกมะเดื่อจากต้นไม้ สำหรับการดำเนินการต่อไปจะมีการปลูกหญ้าแฝก และต้นไผ่บริเวณปากหลุมทุกหลุม เพื่อป้องกันดินทรุดตัว เวลาที่ช้างเดินมาใกล้ปากหลุมและล้อมรั้วลวดหนาม ป้องกันคนและสัตว์เลี้ยงเข้ามาด้วย
ทั้งนี้จะรวบรวมผลการดำเนินงานและรายงานข้อมูลต่างๆ กลับไปยังกรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานให้นักวิชาการทางด้านธรณีและน้ำบาดาล เข้าวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับคนและช้างป่าในพื้นที่ต่อไป
นายคำหล้า เขียวอิ่ม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลชะแลซึ่งเป็นประธานในการประชุมร่วมกับผู้แทนกรมอุทยานฯ ระบุว่า ชาวบ้านในชุมชนพึงพอใจเป็นอย่างมาก ที่เจ้าหน้าที่เร่งเข้ามาประสานและร่วมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านและสัตว์ป่าอย่างรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย