กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยหลัง ป.ป.ช. รับสำนวนคดีอธิบดีกรมอุทยานฯ ทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งตำรวจ บก.ปปป. ส่งให้แล้ว หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวน จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมา ส่วนคำให้การของพยานที่มีชื่อตามซองเงิน ซึ่งบางคนอาจปฏิเสธความเกี่ยวข้อง สามารถใช้นิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์ลายมือที่จ่าหน้าซองเงินได้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการที่พนักงานสอบสวน บก.ปปป. นำสำนวนคดีนายรัชฎา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา มาส่งต่อ ป.ป.ช. ว่า ต้องตรวจสอบพยานหลักฐานเบื้องต้นก่อนพิจารณาว่า ป.ป.ช. จะรับไต่สวนหรือไม่ แต่เนื่องจากเป็นคดีทุจริตต่อหน้าที่ จึงคาดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับคดีไว้ไต่สวน จากนั้นจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งองค์คณะประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. 2 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงหัวหน้าพนักงานไต่สวน ตามกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 2 ปี และขยายเวลาได้ไม่เกิน 1 ปี แต่จากการที่ตำรวจเข้าจับกุมและพบหลักฐานเป็นซองเงินภายในห้องทำงานนายรัชฎา หากพยานหลักฐานชัดเจนพอ คาดว่าใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้น
ทั้งนี้ ได้ทราบว่า ในชั้นพนักงานสวนสวน เมื่อเรียกสอบปากคำพยานตามรายชื่อบนซองเงิน มีบางคนยอมรับ แต่บางคนให้การภาคเสธเกี่ยวกับการจ่ายเงินให้อธิบดีฯ เป็นเรื่องที่สามารถนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ลายมือที่จ่าหน้าซองได้ จึงอยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้องซึ่งต้องมาให้การว่า ขอให้ให้การตามความเป็นจริง ป.ป.ช. มีกฎหมายเกี่ยวกับการกันบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้เป็นพยาน ดังนั้นหากให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี โดยให้ข้อมูลและหลักฐานที่ถูกต้อง จะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งจะไม่ต้องรับความผิดทั้งทางอาญาและวินัย แต่ถ้าให้การเท็จจะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิด
สำหรับการทุจริตนั้น มีในอีกหลายหน่วยงาน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้ได้บุคคลที่ตนเองไว้วางใจไปกระทำทุจริตด้านงบประมาณ เชื่อว่า หากการแต่งตั้งโยกย้ายระดับหัวหน้าหน่วยงานเป็นไปด้วยความสุจริตโปร่งใส จะช่วยลดปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น ข้าราชการต้องไม่ยอม กล้าสู้ความจริง และออกมาชี้ช่องเบาะแสการทุจริตของผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย