กรุงเทพฯ 6 ม.ค.- ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ชี้บริษัท รปภ. และนิติฯ คอนโด ต้องร่วมรับผิดทางกฎหมาย หากขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ตำรวจเข้าไปในที่เกิดเหตุนานถึง 2 ชั่วโมง
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ และนักกฎหมายชื่อดังให้ความเห็นกรณี หัวหน้า รปภ.ก่อเหตุข่มขืนลูกบ้านในห้องพักคอนโดมีเนียม ย่านเพชรเกษม ซึ่งมีการขัดขวางเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปภายในคอนโด จนคนร้ายสามารถหลบหนีไปได้ ว่า ความรับผิดชอบทางกฎหมาย มีทั้งทางอาญา และทางแพ่ง โดยทางอาญา นายมนตรี หัวหน้ายามผู้ก่อเหตุมีความผิดชัดเจน ในข้อหาข่มขืน กระทำชำเราผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี ส่วนลูกน้อง รปภ. ที่อยู่ในขณะเกิดเหตุ ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้เข้าไปในที่เกิดเหตุนานถึง 2 ชั่วโมง จนคนร้ายหลบหนีไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องไปพิจารณาว่า ลูกน้องที่อยู่ในเหตุการณ์ มีส่วนรู้เห็น ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้หัวหน้าหลบหนีหรือไม่ หรือเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต หากพิสูจน์ทราบมีหลักฐานเชื่อมโยงว่า รู้เห็นช่วยเหลือ หัวหน้า รปภ. ที่ทำผิด ให้หลบหนี ย่อมมีความผิดในข้อหาต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเพื่อให้พ้นจากการจับกุมของเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138 ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 1ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 189 ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินสองปีปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทรักษาความปลอดภัย หรือนิติบุคคล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสถานที่ และความปลอดภัยของผู้พักอาศัย แต่หากไม่ป้องกันดูแล ย่อมมีความผิดและเมื่อเกิดเหตุขึ้นไม่ช่วยเหลือในการจับคนร้ายก็มีความผิดต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ผู้ใดจงใจประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เสียหายถึงแก่ชีวิต ถึงแก่ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นทำละเมิด จำเป็นต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และ มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำ โดยผู้เสียหายสามารถเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ตามมาตรา 446 เป็นค่าเสียหายด้านการทุรศีลธรรมและเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาต การเป็น รปภ. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรแต่หากไม่ตรวจสอบ อาจมีความผิด ทางวินัย หรือความผิด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทางต้นสังกัดผู้ออกใบอนุญาตต้องไปดูว่า ผู้ออก มีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาต ให้ รปภ. ควรมีการคุมเข้มตรวจสอบ การออกใบอนุญาต อย่างละเอียดรอบคอบ และบริษัท รปภ. นิติบุคคล ของคอนโด ควรตรวจสอบประวัติพนักงานทุกคนใหม่ ที่กองทะเบียน ประวัติอาชญากร เองอีกรอบ เพื่อความถูกต้อง และปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย