กทม. 21 ธ.ค.-อาจารย์อ๊อด ชี้คดีน้องชมพู่ เส้นผม-สัญญาณมือถือ หลักฐานสำคัญมัดตัว “ลุงพล” ยืนยันมีการใช้เทคนิคพิเศษทางนิติวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญ มีผลการตรวจที่แม่นยำ เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรืออาจารย์อ๊อด กล่าวถึง คดีน้องชมพู่ หลังศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษา จำคุก นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล เป็นเวลา 20 ปี ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน15 ปีไปเสียจากบิดามารดา และยกฟ้องนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น
โดยอาจารย์อ๊อด บอกว่า คดีนี้เป็นคดีอาชญากรรม มีความสลับซับซ้อน ดังนั้นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งคำพิพากษาของศาลค่อนข้างชัดเจนว่าไม่สามารถลงโทษลุงพล ในคดีฆาตกรรมได้ จึงลงโทษในความผิดฐานประมาทฯ และ พรากผู้เยาว์ฯ และการที่ลุงพลไปเกี่ยวข้องกับน้องชมพู่ มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่ระบุตัวตนของน้องชมพู่ ก็คือเส้นผมที่พบในรถลุงพล ซึ่ง ตร.มีการใช้เทคนิคพิเศษ เป็นการตรวจที่เรียกว่า Scanning Electron Microscope หรือการใช้กล้องจุลทัศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด เพื่อขยายดูรอยตัด รอยเฉือน ของเส้นผม ก่อนส่งให้ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ดำเนินการตรวจ โดยใช้เทคนิค “แมทชิ่ง” ทำภาพตัดขวาง เพื่อให้เห็นส่วนลึกส่วนเว้า และรอยต่อ และนำไปเปรียนบเทียบกับเส้นผมที่พบบริเวณร่างของน้องชมพู่ พบว่ามี 1 เส้น ในรถลุงพล ที่ตรงกันเส้นผม 2 เส้น ที่เจอร่างบริเวณร่างน้องชมพู่ ซึ่งเทคนิคดังกล่าว ถือว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความแม่นยำสูง เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และใช้ในวงการนิติวิทยาศาสตร์ในการคลี่คลายคดีสำคัญมาอย่างมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจดีเอ็นเอ ในระดับไมโทคอนเดรีย แม้จะไม่มีรากผม ก็สามารถตรวจยืนยันชัดเจนว่า เป็นเส้นผมน้องชมพู่จริง อีกประเด็นที่มีการใช้วิทยาศาสตร์ทางด้านดิจิทัลเทคนิค การเช็คเบสโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีเพียง “ลุงพล” ที่ไม่สามารถยืนยันตำแหน่งของตังเองได้ชัดเจน จึงเป็นข้อพิรุธของลุงพล
ขณะที่ทนายจำเลยไม่สามารถแก้ต่างในประเด็นดังกล่าวให้ลุงพล ได้ และจะต่อสู้ว่าเป็นการได้มาของพยานหลักฐานได้มาโดยมิชอบนั้น แต่ในข้อท็จจริง คนตรวจเก็บวัตถุพยานทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานจึงเป็นการได้มาของพยานหลักฐานโดยขอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นไฮไลท์ของคดีนี้ที่ศาลลงโทษลุงพล มาจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์.-413.-สำนักข่าวไทย