ศาลอาญา 19 ก.ค. – ศาลฎีกาพิพากษาแก้อัตราดอกเบี้ยให้กลุ่มเกย์นทีและแม่ข่ายยูฟัน ชดใช้ผู้เสียหายกว่า 2,000 คน เป็น 2 ยอด ส่วนโทษอาญายังคำจำคุกตามศาลอุทธรณ์คนละ 20 ปี
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันสโตร์ รวม 7 สำนวน ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 และผู้เสียหาย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายยูฟันสโตร์ นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือเกย์นที นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศกับพวกร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-43 ความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2556 พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบ ตรง 2545 ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
กรณีเมื่อ 25 ต.ค.56-18 มิ.ย.58 บริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด ชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการ ประกอบธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้า ทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่กลับหลอกลวงให้ร่วมลงทุน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลเห็นว่านายอภิชณัฏฐ์ จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำงานเป็นขั้นตอน ชักชวนให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุนการประกอบธุรกิจของบริษัทยูฟันฯ ไม่ได้เน้นการจำหน่ายสินค้าขายตรงตามที่แจ้งไว้ แต่กลับเชิญชวนให้ลงทุนยูโทเคน อ้างว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยไปอย่างต่อเนื่อง หากผู้ลงทุนหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้จะได้รับค่า ทำให้ได้รับความเสียหาย
พิพากษาว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1,2,4,6,11,12,13 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด 2,451 กระทง ๆ ละ 5 ปี เป็นเวลารวม 12,255 ปี และให้จำคุกอีกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 50 ปี
และให้จำคุกจำเลยที่ 7 ฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นเวลารวม 12,255 ปี,ให้จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,จำคุกอีก 2 ปี ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 50 ปี พร้อมกับให้ปรับ บริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 42 ฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 500,000 บาท และให้ปรับฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อีก 200,000 บาท รวมปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,700,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5,15,16,22,23,29,31,36,37,40 ให้จำคุกฐานฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทง ๆ ละ 5 ปี คนละ 12,255 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี
สำหรับจำเลยที่ 17,19,27 ให้จำคุกฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี คนละ 12,255 ปี และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ จำคุกอีกคนละ 2 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี
โดยให้จำเลยที่ 1,2,4,5,6,7,11,12,13,15,16,17,19,22,23,27,29,31,36,37,40,42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืม และให้ริบทรัพย์สินที่เป็นเงินสดของกลางด้วย และให้ยกฟ้องจำเลย 21 คน (ประกอบด้วยจำเลยที่ 3,8,9,10,14,18,20,21,24,25,26,28,30,32,33,34,35,38,39,41,43) ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังศาลพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาทั้งโจทก์ และจำเลยบางส่วน ยื่นอุทธรณ์ วันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยทั้งชาย-หญิง จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา
โดยศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยบางส่วนฟังขึ้น จึงพิพากษา แก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 คงมีความผิด จำนวน 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี คนละ 12,255 ปี ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และจำคุกอีก 2 ปี ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) โดยให้ยกฟ้องฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1,2,6,11 ในความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจำเลย ยังคงมีโทษ ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) (เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสูงสุด 50 ปี)
พร้อมทั้งให้ยกฟ้องจำเลยที่ 15,16,22,23,29,31,36,37,40 ที่เคยถูกพิพากษาจำคุก ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 17,19 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยให้ยกคำขอที่จะให้จำเลยที่ 15,16,17,19, 22 ,23 ,29, 31,36 ,37, 40 ร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย
นอกจากที่ได้พิพากษาแก้แล้ว ส่วนอื่นก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยังคงให้จำเลยที่ 1 ,2,4,5,6,7,11,12,13 ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ข่ายระดับสูง 27,42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปี
โจทก์ยื่นฎีกา จำเลยที่ 1,2,4,7,11-14, 27, 42 ยื่นฎีกา
ศาลได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ไม่มีผู้เสียหายทาง สคบ.จึงไม่มีสิทธิ์แจ้งความ และพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าคดีรับฟังได้ข้อยุติว่า ทาง สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจึงได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าบ.ยูฟันลงทะเบียนว่าเป็นผู้ประกอบการขายตรง แต่ไม่ได้มีสินค้าตามที่ระบุไว้ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดต่อรัฐ ไม่ต้องมีผู้เสียหายมาร้องโดยตรงก็ได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจกับทาง สคบ. คุ้มครองผู้บริโภค ด้านตำรวจได้เข้ามาสอบสวนและพิสูจน์ได้ว่า บ.ยูฟันฯ มีส่วนร่วมกับอาชญากรรมข้ามชาติ และการฉ้อโกงประชาชน จนกระทั่งจับกุมผู้กระทำผิดได้ และ บ.ยูฟันฯได้รับเงินที่หลอกลวงจากประชาชนไป คำพิพากษาของศาลล่างทั้ง 2 ชอบแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ คงให้จำเลยที่ 1,2,4,5,6,7,11-13 ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ข่ายระดับสูง จำเลยที่ 27 (เกย์นที), 42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป
แต่ให้ชำระดอกเบี้ย ใน 2 อัตราคือ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ให้กู้ยืมหรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืมเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 ให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่) นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งหมด
จากเดิมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวคือร้อยละ 7.5 ปี
นอกจากที่ศาลฎีกาแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือโทษอาญาให้จำคุกจำเลย 1,2,6,7,11 คนละ 20 ปี
ในส่วนของจำเลยที่ 5, 6,8,10, 15, 16, 22, 23 ,31,36,37,40 โจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ส่วนจำเลยที่ 18,20 ,21,24-26, 28, 30,32-35 38, 39,41,43 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และจำเลยดังกล่าว ไม่อุทธรณ์คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์.-สำนักข่าวไทย