กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – รมว.แรงงาน ห่วงเหตุเพลิงไหม้เรือบรรทุกน้ำมันที่แม่กลอง ส่งที่ปรึกษาลงพื้นที่ดูแลสิทธิประโยชน์ เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บกว่า 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย สูญหาย 7 คน
นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 7 และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงคราม เบื้องต้นทราบข้อมูลว่า เหตุเกิดวันที่ 17 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 09.10 น. ขณะเรือบรรทุกน้ำมันจอดซ่อมบำรุงที่อู่ ต.แหลมใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ได้เกิดระเบิดเพลิงลุกไหม้บริเวณปากระวางตรงกลางของเรือ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้เข้ามาทำการดับไฟที่เรือ และมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ ต่อมาประมาณเวลา 10.00 น. ได้มีการระเบิดขึ้นมาอีกแต่ไม่รุนแรง
สอบถามลูกจ้าง ซึ่งทำหน้าที่รองต้นกล ทราบว่าขณะเกิดเหตุทำงานอยู่ในห้องเครื่องได้ยินเสียงระเบิดดังมาก ขณะนั้นมีลูกจ้างปฏิบัติงานร่วมกัน 8 คน จึงเรียกให้ทุกคนขึ้นมาบนชั้นห้องพัก พบไฟกำลังลุกไหม้ จึงพากันลงจากเรือทางบันได ได้ยินระเบิดดังเป็นช่วง ๆ ประมาณ 3 ครั้ง ในส่วนของห้องเครื่องปลอดภัยทุกคน มีชิ้นส่วนปล่องระบายอากาศของปั๊มสินค้ากระเด็นลงมาทะลุหลังคาโกดังข้างเคียงได้รับความเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างควบคุมเพลิง ซึ่งยังคงประทุเรื่อย ๆ เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ 10 ราย ส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าแล้ว 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 5 ราย สูญหาย 7 ราย โดยจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่ออำนวยการสั่งการ
สำหรับสาเหตุของการเกิดเหตุครั้งนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสงครามอยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และได้เดินทางไปเยี่ยมลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 4 ราย ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า และจะเร่งดำเนินการให้ได้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป
ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 7 จะเชิญนายจ้างและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นายจ้างมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 หรือไม่ หากนายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมาย
ขณะที่นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวเพิ่มว่า กรณีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ถ้าได้รับบาดเจ็บมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทนดังนี้ ค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวง (สถานพยาบาลรัฐบาล 50,000 บาท ถึงสิ้นสุดการรักษา สถานพยาบาลเอกชน 50,000 – 1 ล้านบาท) ค่าทดแทนกรณีหยุดงาน 18(1) จ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ตามใบรับรองแพทย์ และค่าสูญเสียอวัยวะ 18(2) จ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้าง กรณีเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์ตามสิทธิ สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 ราย ยังไม่พบการขึ้นทะเบียนประกันสังคม.-สำนักข่าวไทย