กรุงเทพฯ 11 ส.ค.- คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกระทบไทย เตรียมแผนรับ 4 ด้าน เผยเตรียมต่ออายุลดภาษีดีเซล-อุดหนุนค่าไฟฟ้า
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันแถลงข่าว โดยมาตรการที่จะมีการพิจารณา เช่น การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันลดการจัดเก็บภาษีฯ อยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร การตรึงราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในเดือน ก.ย.-ธ.ค. มาตรการช่วยเหลือรถจักรยานยนต์รับจ้างเดือนละ 250 บาทต่อเดือน เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานกรณ์วิกฤติเศรษฐกิจ พิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการ และเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อทบทวนมาตรการที่จะหมดอายุในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่มีโอกาสกลายเป็นวิกฤติ พร้อมทั้งมีแผนรองรับสถานการณ์ใน 4 ด้าน 1.วิกฤติต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.วิกฤติการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤติการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMES และ 4.วิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางที่ควรจะดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาวให้ที่ประชุมรับทราบ
ทั้งนี้ สศช. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งได้รายงานฉากทัศน์ (Scenarios) 3 กรณีที่เกิดจากขึ้นจากความขัดแย้งของสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน และความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะจีน-สหรัฐ
ในกรณีที่ 1 กรณีฐาน ที่ สศช. คาดจะเป็นไปในแนวทางนี้มากที่สุด คือ สงครามทางทหารระหว่างรัสเซีย ยูเครน ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังคงระดับเดิมหรือเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างช้าๆ มาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกสามารถปรับตัวได้ทัน โดยรัสเซียเปลี่ยนไปส่งออกตลาดอื่นๆ โดยไม่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะค่อยๆ ลดลงในช่วงที่เหลือของปี ราคา LNG ยังคงอยู่ในระดับสูงและยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวลดลงในปี 2566 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และประเทศเศรษฐกิจหลัก (สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร) ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดจนถึงสิ้นปี ในภาพนี้เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานต่างประเทศในปัจจุบัน และชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปี 2566 โดยอาจมีเศรษฐกิจหลักบางประเทศปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กๆ แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2565-2566 ไม่ถึงขั้นติดลบ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังปี 2566 เศรษฐกิจไทย ในภาพนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้สอดคล้องกับการประมาณการของหน่ายงานหลักด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลอย่างช้าๆ ในปี 2566 โดย สศช. คาดว่าจีดีพีในปีนี้จะขยายตัวได้ในช่วง 2.5-3.5% ค่ากลางที่ 3%
ในกรณีที่ 2 เป็น Low case scenario สงครามทางทหารยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมาตรการตอบโต้ขยายขอบเขตเพิ่มเติมจนทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบและสินค้าสำคัญอื่นๆ ในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ในกรณีนี้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลกจะค่อยๆ กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ และประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าในกรณีแรก ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้าตามการเพิ่มขึ้นของสัญญาณความเสี่ยงต่อ Recession ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทย ปี 2565 และ 2566 ขยายตัวต่ำกว่ากรณีแรก อัตราเงินเฟ้อปี 2565 สูงกว่ากรณีแรกเล็กน้อย ก่อนที่จะลดลงมากหรือมีเงินเฟ้อติดลบในปี 2566 ในขณะที่ดุลเดินสะพัดกลับมาเกินดุลมากกว่าในกรณีแรก
กรณีที่ 3 เป็น Worst case scenario ซึ่งยังมีความเป็นไปได้น้อยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ กับจีนมีความชัดเจนมากขึ้น มีการแบ่งขั้วอำนาจออกจากกัน ปัญหาจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะแรก และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับ recession เป็นระยะๆ ตามความรุนแรง ในกรณีนี้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการขาดแคลนพลังงานและอาหาร รวมทั้งสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลกอย่างชัดเจน เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมในระยะสั้นจะหดตัวชัดเจนและรุนแรง และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เป็นระยะๆ ตลอดหลายปีข้างหน้า ตามความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ระหว่าง 2 ขั้วเศรษฐกิจหลักและการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะยาว ในขณะที่ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวลดลงหรือเข้าสู่ stagflation คล้ายๆ กับในช่วงปี 1970-1980
สำหรับในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงและมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกสูง (การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ห่วงโซ่การผลิต ตลาดทุน การพึ่งพิงพลังงาน) อัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องและการขาดดุลการคลังกว้างขึ้นและทำให้แรงกดดันจากปัญหาการขาดดุลแฝงรุนแรงมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย