กรุงเทพฯ 8 ก.ค.- กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมหน่วยงานในสังกัด อำนวยความสะดวกการเดินทางในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ พ.ศ. 2565 เน้นย้ำต้องส่งประชาชนเดินทางถึงที่หมายอย่างสะดวก ปลอดภัยจากอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม (คค.) เตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดยาวเดือนกรกฎาคม 2565 ในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565 และวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2565 โดยกำชับหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย และห่างไกล COVID-19 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565 และวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2565 ของ คค. โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินการดังนี้ (1) จัดบริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสารสาธารณะ และเครื่องบิน ให้เพียงพอต่อการเดินทาง (2) ตรวจความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะ พนักงาน และผู้โดยสาร อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเข้มงวด และ (3) อำนวยความสะดวกการเดินทางบนโครงข่ายถนน มีการบริหารจัดการจราจรและมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน
นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานในสังกัด คค. ได้จัดเตรียมแผนงาน/มาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ 2565 ของ คค. ที่ครอบคลุมในมิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มิติความปลอดภัยในการเดินทาง มิติด้านการควบคุม COVID-19 ประกอบด้วย
1. มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
– เตรียมบริการขนส่งสาธารณะ ทั้งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ ให้เพียงพอ ไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง และจัดบริการรถสาธารณะเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานและสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด
– เตรียมมาตรการสำหรับบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรองที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด โดยได้คาดการณ์ปริมาณจราจรขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 5 Corridor ได้แก่ สายเหนือ สายอีสาน สายตะวันออก สายตะวันตก และสายใต้ โดยในช่วงวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา มีปริมาณจราจรขาเข้ารวม 2.39 ล้านคัน และขาออกรวม 2.41 ล้านคัน และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ มีปริมาณจราจรขาเข้ารวม 2.15 ล้านคัน และขาออกรวม 2.15 ล้านคัน ซึ่งในช่วงวันหยุดยาวดังกล่าวมีปริมาณการจราจรใกล้เคียงกับความสามารถในการรองรับ (Capacity) ของสายทาง ซึ่ง คค.ได้เตรียมการบริหารจัดการจราจรเพื่อรองรับไว้ด้วยแล้ว อาทิ จัดเจ้าหน้าที่จัดการจราจร รวมทั้งให้ดำเนินการคืนพื้นผิวจราจรบริเวณโครงการก่อสร้าง ตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร และประชาสัมพันธ์ให้ใช้เส้นทางเลี่ยงจากถนนสายหลัก เพื่อลดปริมาณการจราจร
– ให้บริการฟรี อาทิ ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางพิเศษ 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 และบริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C
2. มิติความปลอดภัยในการเดินทาง
– ตรวจสอบปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ (Black Spot) เช่น บริเวณจุดกลับรถ ทางแยก ทางโค้ง/ทางลาดชัน และจุดตัดถนนกับรถไฟ/ทางลักผ่าน รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เลี่ยงการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกในช่วงดังกล่าว เพื่อให้เกิดการเดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงฤดูฝนที่อาจเกิดความเสี่ยงจากถนนลื่นและทัศนวิสัยในการขับขี่
– เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแลด้านวินัยจราจร และรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ และลดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ อาทิ การขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย/ไม่สวมหมวกนิรภัย โดยการตรวจจับความเร็ว การติดตามด้วยระบบ GPS การตั้งจุดตรวจ (Checking Point)
– การกำกับดูแลความพร้อม ตรวจสอบพนักงานขับขี่และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร และรถไฟ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบ เช่น ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สารเสพติด พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงตรวจความพร้อมความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร รถไฟ และเครื่องบิน รวมถึงภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ ท่าเรือ และท่าอากาศยาน ตลอดจนตั้งศูนย์ปฏิบัติการของหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อกำกับดูแล/สั่งการให้เกิดความปลอดภัยและรับเรื่องร้องเรียน
3. มิติด้านการควบคุม COVID-19
– เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคำสั่ง ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยตรวจสอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะตามแนวทางที่กำหนด อาทิ จัดจุดตรวจคัดกรอง จัดให้มีการเว้นระยะห่าง การปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ได้สั่งการให้มีมาตรการรองรับปริมาณการเดินทางในช่วงวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ดังนี้
1. เส้นทางสู่ภาคเหนือ เน้นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้ ทล.340 (กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี-ชัยนาท-นครสวรรค์) เป็นเส้นทางเลี่ยงสู่ภาคเหนือ เพื่อแบ่งเบาภาระ ทล.32
2. เส้นทางสู่ภาคใต้ จัดเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง โครงการทางยกระดับ ทล.35 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณหน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ และโครงการทางยกระดับบน ทล.35 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสะพานกลับรถบ้านแพ้ว รวมถึงเน้นการประชาสัมพันธ์การปิดสะพานกลับรถหน้า รพ.วิภาราม (กม.34)
3. เส้นทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ประชาชนใช้ทางเลี่ยงเส้นทาง ทล.304 เพื่อกระจายปริมาณจราจรจากเส้นทางหลัก (ทล.2) ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจร ขณะดำเนินการและติดตั้งป้ายเตือนการก่อสร้างและเส้นทางเลี่ยง บนทางหลวงหมายเลข 2 ระหว่าง กม.75+500 – กม.77+500
4. เส้นทางสู่ภาคตะวันออก รณรงค์ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 36 หมายเลข 344 และหมายเลข 34 เป็นการเลี่ยงรถติดบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เพื่อไปยังภาคตะวันออก
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการเน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัด คค. ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการเดินทางในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ พ.ศ. 2565 ดังนี้
– ให้หน่วยงานในสังกัด คค. เข้มงวดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการป้องกัน COVID-19 โดยเฉพาะการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง
– ให้ ทล. เปิดให้บริการทางหลวงระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) ช่วงสีคิ้ว-ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กม. โดยให้บริการฟรี ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ขาออก วันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 และขาเข้า วันที่ 15-17 กรกฎาคม 2565 และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ขาออก วันที่ 28-29 กรกฎาคม 2565 และขาเข้า วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2565
– ให้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกและเจ้าหน้าที่ เช่น บริเวณจุดพักรถ สถานีให้บริการน้ำมัน รวมทั้งเฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ทางลาดชัน ทางโค้ง พร้อมประสานตำรวจทางหลวงช่วยดำเนินงาน
– ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์เรื่องการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงวันหยุดให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ.-สำนักข่าวไทย