กรุงเทพฯ 7 มี.ค.-หลายหน่วยงาน ร่วมชี้ช่องทาง เติมเงิน เติมทุน เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs สสว. แนะเอสเอ็มอีรายย่อยลงทะเบียน เข้าโครงการลดค่าธรรมเนียมจากหน่วยงานรัฐ “คนละครึ่ง” เตรียมวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา online ต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อแนะนำช่องทางในการเติมเงิน เติมทุน เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs และผู้สนใจทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งผ่านช่องทางปกติและช่องทาง Digital ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลากหลาย และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ มาเสนอให้ผู้ประกอบการพิจารณาร่วมกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการให้ข้อมูล คำปรึกษา และข้อแนะต่อการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากปัญหา Covid-19 ทั้งด้านธุรกิจทั่วไปการส่งออก และบทบาทของ บสย. ในการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
นายวีรพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้กำหนดนิยามขนาดของวิสาหกิจ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. วิสาหกิจขนาดกลาง ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 200 คน หากเป็นภาคการค้าและบริการ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 100 คน2. วิสาหกิจขนดย่อม รายนได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ภาคการค้าและบริการ รายได้เกิน300 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 100 คน
3. วิสาหกิจรายย่อย ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา กลุ่มวิสหากิจชุมชน ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต และด้านการค้าและบริการ มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 5 คน
กลุ่มวิสาหกิจเหล่านี้ สสว. ต้องการผลักดันให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีมูลค่า1.3 ล้านล้านบาท เนื่องจากหลายโครงการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดให้หน่วยงานรัฐซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีในพื้นที่สัดส่วนร้อยละ 30 ของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเชิญเอสเอ็มอี 6 รายเข้ามาเสนอราคา ขณะนี้มีเอสเอ็มอีขึ้นทะเบียนกับ สสว. 1.1 แสนราย มีรายการสินค้า 1 ล้านรายการ แผนในปี 65 จึงได้ขยับไปยังการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีได้มีโอกาส ผลิตสินค้าป้อนอุตสาหกรรมเหล่านี้
สสว.ยังต้องเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้ารับการส่งเสริมผ่านกลไก ผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDS) เมื่อต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานรัฐ เช่น การขออนุญาตอย.การตรวจสารตกค้าง จากห้องแลป การรับรองผลิตภัณฑ์ สสว.พร้อมช่วยเหลือค่าใช้จ่าย “คนละครึ่ง” หากเป็นเอสเอ็มอีรายย่อยช่วยเหลือถึงร้อยละ 80 เอสเอ็มอีออกค่าใช้จ่ายร้อยละ 20 ในปี 65 เตรียมวงเงินรองรับ 50,000 ล้านบาท กำหนดให้เอสเอ็มอีใช้ได้ 2 สิทธิ์ เริ่มตั้งแต่ 14 มี.ค.65 เป็นต้นไป
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ ร่วมกันปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบ อย่างต่อเนื่องในช่วงปัญหาโควิด-19 ผ่านโครงการฟื้นฟูธุรกิจ ในปี 64 ประมาณ 3.3 ล้านบาทต่อราย จึงต้องการให้เอสเอ็มอี เข้าร่วมโครงการดิจิทัล ซัพพลายเชนไฟแนนซ์ เพื่อใช้ระบบแทนกระดาษขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ เพื่อนำธุรกิจรายใหญ่มาเป็นตัวกลางช่วยเหลือรายย่อย การชำระเงินให้รายย่อยเร็วขึ้น .-สำนักข่าวไทย