กรุงเทพฯ 18 ม.ค.64 – ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัด “เสวนา ถอดรหัส เจาะพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์การลงทุนคนรุ่นใหม่” พบ แนวโน้มคนรุ่นใหม่ กล้าลงทุน –ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น บล.บัวหลวง เผยตัวเลข บัญชีนักลงทุนรุ่นใหม่ แอคทีพมากกว่าครึ่ง ลงทุนเอง ไม่ผ่านมาณืเกตติ้งกว่าร้อยละ 80
ในงานสัมมนาออนไลน์ SET : Capital Market Research Forum ครั้งที่ 1/2565 หัวข้อ “ถอดรหัส เจาะพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์การลงทุนคนรุ่นใหม่” ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group ระบุว่า ข้อสังเกตุหลัก 5 ข้อ ที่ได้จากนักลงทุนในปัจจุบัน คือ 1.การเข้าถึงข้อมูล ที่ปัจจุบันนักลงทุนสามารถ เข้าถึงข้อมูล การลงทุน และเข้าถึงบริการได้ทั่วโลก 2. คนรุ่นใหม่มี โกลบอลไมนด์เซท มีความเป็นพลเมืองโลกมากขึ้น 3. การมีอินฟลูอินเซอร์ ทำให้พื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญลดน้อยลง 4.การรับความเสี่ยง คนรุ่นใหม่ให้น้ำหนักเรื่องอัพไซด์มากกว่าคนรุ่นเก่า โดยยอมเสี่ยงมากขึ้น 5. ลงทุนเพื่อลงความคิดเห็น เช่น กรณี หุ้นเกมสตอปในสหรัฐ ที่ลงทุนเพราะต้องการเอาชนะกลุ่มเฮดจ์ฟันด์
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุว่า 10 ข้อค้นพบจากการวิเคราะห์แบบสอบถามเรื่องการเข้าถึงตลาดทุน ที่น่าสนใจ คือ เรื่องของความเชื่อกับวัฒนธรรม สำคัญกับการลงทุนมาก เช่น เราเอาเงินไปสนับสนุนใคร สนับสนุนสังคม หรือสอดคล้องความเชื่อหรือไม่ ส่วนเรื่องความมั่งคั่ง พบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินมากพอ ที่จะเข้ามาลงทุน หรือรับความเสี่ยงในตลาดทุนได้ และเรื่องความต้องการผลิตภัณฑ์
นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง จำกัด ระบุว่า แนวโน้มบัญชีนักลงทุนในช่วง 7- 8 ปีที่ผ่านมาเติบโตมากขึ้น เฉพาะบล.บัวหลวงฯ มีบัญชี 6 แสนราย จากทั้งหมดในตลาดฯ 2 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 30 แต่เพิ่มในจำนวนผู้ลงทุน ไม่ใช่ปริมาณในการซื้อขาย จนกระทั่ง 2 ปีมานี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่กลายเป็นกลุ่มที่บัญชีมีการแอฟทีคมากกว่าครึ่ง และมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากด้วย เป็นการลงทุนด้วยตัวเอง ไม่ผ่านมาร์เกตติ้งกว่าร้อยละ 80 มีการวางสัดส่วนในการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนรุ่นอื่น กล้าได้กล้าเสีย
ทั้งนี้ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเปิดเผยว่า ข้อมูลจากการสำรวจ พฤติกรรมเชิงลึกและไลฟ์สไตล์ทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุระหว่า 18-39 ปี โดยจำแนกเป็น 3 ช่วงอายุ คือ 18-22 ปี 23-29 ปี และ 30-39 ปี ในเขตกทม.และปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไป 1,756 คน และกลุ่มตัวแทนประชากรออนไลน์ที่ใกล้ชิดกับบริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ อินไซต์ 2,124 คน
โดยสรุป พบว่ามี คีย์อินไซด์ รวม 6 ด้าน คือ 1.ทัศนคติของนักลงทุน มีความแตกต่างกันตามอายุ แต่ทุกคนตัดสินใจจากสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าประสบการณ์ในอดีต 2.การตัดสินใจเข้าลงทุน ขึ้นกับทัศนคติ ระดับเงินออมและความรู้ 3.บุคคลต้นแบบของกลุ่มประชากร และกลุ่มตลาดฯ ไม่เหมือนกัน และส่งผลต่อความต้องการของการลงทุนที่แตกต่างกัน 4.ทุกคนมีการกระจายพอร์ตการลงทุนในแบบของตัวเอง จำเป็นต้องพิจารณาสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมด ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ 5. เส้นทางการลงทุนมีความสำคัญในการ คาดการณ์การลงทุน การกำหนดนโยบายหรือการประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิผลต้องมีข้อมูลเส้นทางการลงทุน 6.คนรุ่นใหม่เชื่อมโยงการการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นธรรม .-สำนักข่าวไทย