กรุงเทพฯ 4 ม.ค.– รมว. เกษตรฯ ย้ำเร่งความเข้าใจผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามระเบียบใหม่ของศุลกากรจีนในการนำเข้าสินค้าอาหาร พร้อมขอความร่วมมือจากเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยในการอำนวยความสะดวกการนำเข้าผลไม้และสินค้าอาหารจากไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic China: GACC) ออกระเบียบใหม่สำหรับการนำเข้าสินค้าอาหารคือ ระเบียบฉบับที่ 248 (Decree 248) ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่งจัดทำเอกสารประกอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่ประกอบด้วย
1. คู่มือการเข้าใช้ระบบฉบับภาษาไทย
2. คู่มือการดำเนินงานการให้บริการของทางการ “การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการผลิตอาหารในต่างประเทศที่นำเข้ามายังสาธารณรัฐประชาชนจีน” ฉบับภาษาไทย
3. เอกสารรวบรวมประเด็นข้อคำถามของผู้ผลิตอาหารที่พบบ่อยในการปฏิบัติตาม Decree 248 (FAQ) จากการประสานงานกับศุลกากรจีนและการเข้าร่วมประชุมออนไลน์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและศุลกากรจีน
ทั้งนี้ผู้ประกอบการผลิตอาหารของไทยที่จะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://www.moac.go.th/site-home หรือ https://www.opsmoac.go.th/news-preview-432991791570
นอกจากนี้ยังเสนอต่อนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทยว่า ไทยขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพีชไทย-จีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานศุลกากรของจีนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในระเบียบใหม่ดังกล่าว การติดตามความก้าวหน้าในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรไทย รวมถึงแนวทางที่ชัดเจนในการอนุญาตผู้ประกอบการไทยที่ปฏิบัติตามมาตรการระงับการส่งออกด้วยตนเอง (self-ban) สามารถส่งออกสินค้าได้อีก เป็นต้น
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ได้หารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะการลดผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ด่านศุลการกรนำเข้าของจีน ซึ่งยืนยันว่า สินค้าเกษตรไทยมีความปลอดภัย กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างเข้มงวด รวมถึงปฏิบัติตามแนวทางสากล ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางการจีนให้การยอมรับ และแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหวังว่า จีนจะอำนวยความสะดวกสำหรับฤดูกาลผลไม้ของไทยในปี 2565 ต่อไป.-สำนักข่าวไทย