กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – รมว. ทส. ขอบคุณศาลที่พิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดในคคีล่าเสือดำ แต่เห็นว่า หากไม่เกิดเหตุตั้งแต่ต้นจะดีที่สุด การติดคุกและเงินชดเชยไม่อาจทดแทนชีวิตเสือดำได้ วอนประชาชนร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่า ผืนป่า และสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกร่วมกันล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี โดยระบุว่า ขอบคุณศาลที่พิจารณาลงโทษทั้งให้จำคุกและจ่ายค่าชดเชย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนทำผิดย่อมถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่หากไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้นตั้งแต่แรกจะดีที่สุด เพราะไม่ว่าจำนวนเงินกี่บาทก็ไม่คุ้มกับชีวิตของสัตว์ป่าที่ตายไป หรือการตัดไม้ในป่าสักต้น หากต้นไม้อายุ 20 ปี ให้คนผิดจ่ายค่าชดเชยก็ทดแทนระยะเวลา 20 ปีที่ต้นไม้เติบโตมาแล้วสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้
ล่าสุดยังเกิดกรณีของ “น้องฟ้าใส” ลูกช้างป่าที่ถูกบ่วงแร้วรัดขาและถูกยิงบาดเจ็บตกอยู่ในคูกันช้างบริเวณบ้านคลองยายไท ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อมาเคลื่อนย้ายมารักษาต่อที่สวนนงนุช พัทยา เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก จึงย้ำต่อทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทส. ให้ป้องกันการทำร้ายสัตว์ป่า ทำลายผืนป่าและสิ่งแวดล้อม หากเกิดขึ้นต้องติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีถึงที่สุด
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงทส. ทำงานเต็มกำลังเพื่อจะป้องกันทั้งป่า ทะเล และสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่จึงมีผู้พยายามลักลอบกระทำผิด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ จิตสำนักของประชาชนที่ต้องตระหนักว่า ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติมีความสำคัญ ต้องช่วยกันปกป้องและดูแล การสร้างความเสียหายต่อสัตว์ป่า ผืนป่า ทะเลจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตของคนด้วย
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวถึงคำพิพากษาคดีเสือดำว่า แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะคนจนหรือคนรวย มีชื่อเสียงหรือไม่ หากกระทำผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกรมอุทยานฯ มีนโยบายป้องกันและปราบปรามการล่าสัตว์ป่ามาโดยตลอดและเพิ่มความเข้มข้นในปัจจุบัน โดยให้มีระบบลาดตระเวน Smart Patrol ถี่ขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ติดตามและตรวจสอบเช่น กล้องดักถ่าย ปลอกคอสัตว์เชื่อมสัญญาณดาวเทียม (GPS) โดยหากเกิดความผิดปกติ เจ้าหน้าที่จะเข้าถึงพื้นที่อย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย