กรุงเทพฯ 18 ต.ค.-นักวิชาการ DPU เผยกว่า 67 % ของไรเดอร์-ผู้ใช้บริการเดลิเวอรีค้านลดค่า GP หวังรัฐเร่งจัดหาวัคซีน – งัดมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธารีทิพย์ ทากิ อาจารย์ประจําสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร เผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือฟู้ดเดลิเวอรีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศล็อคดาวน์ ทำให้บริการดังกล่าวกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญนอกเหนือจากการซื้ออาหารที่หน้าร้าน และทำให้ค่า GP (หรือค่าคอมมิชชันที่แอปพลิเคชันเรียกเก็บจากร้านอาหาร) กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง โดยมีหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาและควบคุมบริการดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้จัดเสวนากลุ่มย่อยกับตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี เพื่อรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากทั้งสองฝ่าย ล่าสุด เรายังได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคและไรเดอร์ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารต่อประเด็นดังกล่าว ซึ่งถือเป็นอีกสองตัวแปรสำคัญของวงจรธุรกิจนี้ เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่รอบด้านและสะท้อนบริบททางธุรกิจให้ครอบคลุมมากที่สุด จากผลการศึกษาพบประเด็นหลักที่น่าสนใจ ดังนี้
ทั้งนี้ ประโยชน์ของบริการฟู้ดเดลิเวอรี 77.9% ของไรเดอร์มองว่าบริการดังกล่าวเป็นช่องทางในการหารายได้เสริมให้กับคนไทย ขณะที่ 56.3% ของไรเดอร์เห็นว่า บริการนี้ช่วยเพิ่มช่องทางในการขายและการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร
• 85.1% ของผู้ใช้บริการมองว่าบริการดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค โดย 73.4% ระบุว่า บริการฟู้ดเดลิเวอรีช่วยทำให้ไม่ต้องออกนอกบ้าน ซึ่งลดความเสี่ยงในการเจอผู้คนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แนวทางของภาครัฐในการควบคุมค่า GP กว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถาม (ทั้งไรเดอร์และผู้ใช้บริการ) ไม่เห็นด้วยกับการที่หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายที่จะควบคุมบริการดังกล่าวด้วยการปรับลดค่า GP เพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร
62.9% ของไรเดอร์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยไรเดอร์ส่วนใหญ่ถึง 64.9% มีความกังวลว่า การปรับลดค่า GP จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าตอบแทนของไรเดอร์ ขณะที่ 41.4% มองว่าบริการฟู้ดเดลิเวอรีเป็นเพียงช่องทางเสริมของร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ที่จะไม่ขายผ่านแพลตฟอร์มและหาช่องทางอื่นที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับฝั่งของผู้ใช้บริการ โดย 69.9% ของผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการปรับลดค่า GP โดย 49.9% เกรงว่าหากมีการปรับลดค่า GP จะต้องกระทบต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ 45.9% ของผู้ใช้บริการมองว่า อัตราค่า GP ในปัจจุบัน (สูงสุดไม่เกิน 30%) เหมาะสมอยู่แล้ว และส่งผลดีในระยะยาวต่อทุกคนในวงจรธุรกิจ และมีจำนวนถึง 31% ที่มองว่าแนวคิดในการปรับลดค่า GP เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด
สำหรับ แนวทางในการรับมือหรือการตอบสนองหากภาครัฐมีการควบคุมค่า GP
• 59% ของไรเดอร์ระบุว่า หากภาครัฐมีการผลักดันเรื่องการปรับลดค่า GP จริงจะรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการพิจารณา โดย 28.4% ของไรเดอร์จะเรียกร้องให้แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีต้องแบกรับต้นทุนต่อไปหรือผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ขณะที่ 27% ของไรเดอร์เลือกที่อยู่เฉยๆ และยอมรับสภาพหากมีการปรับลดค่าตอบแทน
• 46% ของผู้บริโภคระบุว่าจะเลิกใช้บริการสั่งอาหารหากมีการปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่มีเพียง 14% เท่านั้นที่ยอมจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นความคาดหวังที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาปากท้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร
• กว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม (ทั้งไรเดอร์และผู้ใช้บริการ) ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนเป็นอันดับแรก
• 56.2% ระบุว่ารัฐบาลควรมีมาตรการในการอัดฉีดหรือกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารในระยะยาว ขณะที่ 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังไม่ให้มีการประกาศล็อคดาวน์อีก และ 46.2% เสนอให้มีการประสานให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีการประนอมหนี้ หรือจัดโปรแกรมเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
ผศ.ธารีทิพย์ ทากิ กล่าวเสริมว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนพบว่า การประกาศล็อคดาวน์หรือขอความร่วมมือไม่ให้ออกนอกเคหสถานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหารและเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ประเด็นเรื่องค่า GP ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเดลิเวอรีแพลตฟอร์มเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการขายของร้านอาหารเท่านั้น ไม่ต่างจากการลงทุนเพื่อเปิดหน้าร้าน หรือการเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าที่ต้องมีค่าใช้จ่ายและมีการคิดส่วนแบ่งการขายเหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับร้านอาหารว่าต้องการเลือกเข้าร่วมใช้บริการหรือไม่ตามความสมัครใจ สำหรับการพิจารณาเพื่อควบคุมกลไกตลาดนั้น ภาครัฐควรดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแต่ร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ในวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าหรือผู้บริโภค ไรเดอร์ รวมไปถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหารด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย