กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – ธปท. รับล็อกดาวน์รอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจกว่าที่คาด เตรียมประเมินภาพเศรษฐกิจใหม่
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ว่า การล็อกดาวน์รอบล่าสุดที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้( 12 ก.ค. 64 )นั้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่ง ธปท.จะประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยขอรอดูผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจริงก่อน
ทั้งนี้ ความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ การระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด, ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง, ปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหา Supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าคาด
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 64 กนง.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ในเดือนมี.ค. โดยเหตุผลสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่มีความรุนแรงและกระจายในวงกว้าง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดในระลอกสาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาด จากการระบาดที่รุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7 แสนคน จากประมาณการเดิม 3 ล้านคน
สำหรับปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ แผนการจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ คือ 100 ล้านโดสในปีนี้ แรงกระตุ้นทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น การส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีปัจจัยเพิ่มเติมจากการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทฉบับใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้
นางสาวชญาวดี กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท คาดว่า ปีนี้จะมีการเบิกใช้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะยังมีของเดิมที่ยังเหลืออยู่ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเบิกใช้อีก 2 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็มีโอกาสที่ พ.ร.ก.จะถูกเบิกใช้ได้มากถึง 5 แสนล้านบาท
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันโดยมองว่าเราจะต้องอยู่ในลักษณะนี้ไปอีกระยะ ทั้งนี้ ธปท.และ กนง. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่ามาตรการที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ โดยมองว่ามาตรการทางการเงินและมาตรการสาธารณสุขควรทำร่วมกันอย่างเหมาะสม และทุกคนควรร่วมมือกันดูแลตัวเอง พร้อมส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย . – สำนักข่าวไทย