กรุงเทพฯ 3 พ.ค. – ธ.ก.ส.ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เกษตรกร ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ช่วง 2 ปีแรก เพื่อไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน 2 มาตรการ วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มวันนี้-เม.ย.66
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และสถาบันเกษตรกร ผ่าน 2 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ เป็นนิติบุคคลด้านภาคเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ
โดยลูกค้าเดิมสามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจเดิม ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับ กรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไปคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4.875 ต่อปี หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี ตามประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อตามมาตรการนี้
2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อช่วยรักษาโอกาสไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน และช่วยให้สามารถกลับมาสร้างงานฟื้นฟูอาชีพ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ในการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะให้สิทธิเจ้าของทรัพย์สินเข้ามาเช่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน และซื้อคืนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไม่เกิน 5 ปี
กรณีมีต้นเงินและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อายุสัญญาไม่เกิน 20 ปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไป กรณีเป็นผู้ประกอบการและสถาบัน คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) และกรณีเป็นเกษตรกรและบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) นอกจากนี้ สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ได้
โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 ลูกค้ามีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center 02 555 0555. – สำนักข่าวไทย