กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – กรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการกำหนดร่างกฎกระทรวงใหม่ เปิดรับฟังข้อเสนอทุกฝ่าย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหลายแห่งต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อเงินฝากเงินหุ้นของสมาชิก กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติสหกรณ์เดิม เพื่อให้ทันกับธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไปจนได้มาซึ่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2562 เป็นเหตุให้ต้องมีการออกกฎกระทรวงตามพรบ.สหกรณ์ใหม่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขให้กับสหกรณ์ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์และรักษาประโยชน์สูงสุดของสมาชิกโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและหลักการสหกรณ์
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เสนอร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย โดยปรากฏว่ามีผู้บริหารสหกรณ์มีความกังวลใจในร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ ในประเด็นดังนี้
ข้อกังวลกรณีฝ่ายสหกรณ์จำนวนหนึ่งได้เสนอโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการกำหนดงวดชำระหนี้ของสมาชิก รายได้คงเหลือหลังจากหักหนี้ของสมาชิกในการดำรงชีวิต กรมขอชี้แจงว่าระหว่างการพิจารณา สคก.ได้เปิดโอกาสในการรับฟังความเห็นทั้งจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และจากภาคสหกรณ์ที่มีผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและชุมนุมสหกรณ์ นักวิชาการอิสระเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ ภาคราชการต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญ คือ การกำกับดูแลระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งทางการเงินและเกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับมวลสมาชิก จึงอาจทำให้มีข้อกำหนดบางเรื่องไม่สอดรับกับข้อเสนอของภาคสหกรณ์
“จากการสำรวจข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์วัน 30 พฤศจิกายน 2563 มีจำนวนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 563 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,318 แห่ง รวม 1,881 แห่ง พบว่ากรณีการกำหนดงวดชำระหนี้เงินกู้สามัญที่กำหนดให้สมาชิกชำระเสร็จภายใน 150 เดือนตามร่างกฎกระทรวงนั้น มีสหกรณร้อยละ 72.35 ที่อยู่ในเกณฑ์ และร้อยละ 72.35 ยังพบว่ามีถึงร้อย 58.64 ที่ปัจจุบันให้ไม่เกิน 120 เดือน สำหรับสหกรณ์ที่กำหนดงวดเกินกว่า 150 เดือนถึงมากกว่า 240 เดือน มีร้อยละ 27.65 กลุ่มนี้ต้องปรับตัว กรมจึงได้กำหนดไว้ชัดเจนในบทเฉพาะกาลให้เวลาสหกรณ์ในกลุ่มร้อยละ 27.65 ปรับตามตามเกณฑ์ภายในระยะเวลา 10 ปี” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ส่วนข้อกังวลกรณีกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนที่กำหนดให้ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อไม่ให้เป็นระดมทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไป หรือการให้เงินกู้หรือการให้สินเชื่อแก่สมาชิกที่กำหนดว่าการให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกต้องไม่กำหนดงวดชำระหนี้ยาวเกินไป และสมาชิกจะต้องมีเงินได้คงเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งการกำหนดให้สมาชิกที่มีการขอกู้ยืมเงินเกิน 1 ล้านบาทต้องส่งข้อมูลเครดิตบุโรประกอบการพิจารณา ล้วนเป็นไปเพื่อไม่ให้สมาชิกมีภาระหนี้สินมากจนเกินไปและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ในข้อกังวลต่อข้อกำหนดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจำกัดการกระจุกตัวในการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง และเรื่องอื่น ๆ ในร่างนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์และความมั่นคงทางการเงินของสหกรณ์และสมาชิกของสหกรณ์นั้น ๆ ในระยะยาวเป็นสำคัญ ซึ่งกรมทราบถึงข้อกังวลใจของขบวนการสหกรณ์ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน
“กรมยืนยันว่าแนวทางการกำหนดกฎกระทรวงได้ถือปฏิบัติเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัดในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ที่ให้ส่วนราชการได้คำนึงถึงการให้โอกาสสหกรณ์ในการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ ดังนั้น กฎกระทรวงทุกฉบับจึงได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ระยะเวลาสหกรณ์ในการปรับตัว และด้วยขนาดของสหกรณ์ก็ทำให้มีการกำหนดข้อปฏิบัติที่ต่างกันเพื่อความเหมาะสมของขนาดธุรกรรมและความสามารถของสหกรณ์ และจะเห็นว่าที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับขบวนการสหกรณ์มาโดยตลอดว่าหากใกล้ครบระยะเวลาในการปรับตัวแล้ว แต่สหกรณ์ยังเกิดปัญหาในทางปฏิบัติโดยมิได้เกิดจากเจตนา ก็จะมีการทบทวนข้อกำหนดต่าง ๆ อีกครั้ง เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย