กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – รมว.พาณิชย์เดินหน้าแก้หนี้เกษตรกรบุคคลค้ำประกันตามกฎหมายใหม่ เสนอ ครม.อนุมัติงบแก้หนี้และฟื้นฟูเกษตรกร
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูให้เกษตรกรกลับมายืนอยู่ได้ โดยไม่กลับไปสู่วงจรหนี้ รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้กองทุนฯ สามารถเข้าไปซื้อหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติในเรื่องสำคัญ ๆ ได้แก่ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คณะกรรมการบริหารหรือเลขาธิการกองทุน มีอำนาจผ่อนผันหรือขยายเวลาการใช้คืนเงินต้นได้หากเป็นกรณีที่เกษตรกรประสบเหตุภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือเหตุสุดวิสัย เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เปิดโอกาสให้คณะกรรมการจัดการหนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเก็บค่าเช่าซื้อ หรือระยะเวลาการเช่าซื้อ ให้แก่เกษตรกรในกรณีที่เกษตรประสบหรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติอื่น ๆ
นอกจากนี้ เห็นชอบจัดการหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้และผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมการจังหวัด จำนวน 3,648 ราย และเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA (หลักทรัพย์ประกันที่เจ้าหนี้ขายทอดตลาด) จำนวน 314 ราย เห็นชอบให้เสนอ ครม. พิจารณาการขยายกรอบวงเงินซื้อทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด และชำระหนี้เสียคงเหลือ จากเดิมไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ตามมติ ครม.ตั้งแต่ปี 2552 และ 2555 ที่ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปแก้หนี้เกษตรกร จำนวน 4,083 ราย แต่ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้า ประกอบกับมีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรค จนทำให้กองทุนฯ ไม่สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรเหล่านี้ให้รักษาที่ทำกินไว้ได้ และพิจารณาอนุมัติงบกลาง เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูเกษตรกร เพิ่มเติมจากงบของกองทุนฯที่จัดสรรไว้แล้ว 2,055 ล้านบาท
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ผ่านมายังมีเกษตรกรจำนวนมากแม้จะขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ แล้ว แต่กองทุนฯ ยังไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด เนื่องจากข้อจำกัดทั้งที่เป็นระเบียบ และงบประมาณ นายจุรินทร์ จึงสั่งการให้แก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ และเร่งดำเนินการวางแผนแก้หนี้และฟื้นฟูทั้งหมด ทั้งนี้ จากการที่ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯได้ปรับแก้ ให้อำนาจกองทุนฯเข้าไปซื้อหนี้ประเภทบุคคลค้ำประกันได้ จะทำให้เกษตรกรจำนวน 129,000 ราย ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งมติฯ ที่ให้อำนาจสำนักงานกองทุนฯ ผ่อนผันหรือขยายเวลาการชำระคืนเงินต้นจะเป็นการต่อลมหายใจบรรเทาภาระของเกษตรจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมกว่า 20,000 ราย.-สำนักข่าวไทย