นนทบุรี 3 ธ.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์ย้ำเร่งทุกส่วนงานจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวพร้อมเงินอุดหนุนช่วงนี้ ส่วนยางพาราจ่ายทั้งบัตรเขียว-บัตรชมพูเหมือนปีก่อน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวพร้อมเงินอุดหนุนช่วงนี้ หลังโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 2 รอบ และมีเม็ดเงินที่ได้เตรียมการไว้ 46,800 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างไปแล้ว 4 งวดตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 งวดถัดไปจะจ่ายวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ผู้ที่จะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 40,000 บาทโดยประมาณ และมีเงินช่วยเหลือเสริมไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุด 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณการปลูกของเกษตรกร สำหรับผู้ได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดประกอบด้วยเงินส่วนต่าง 40,000 บาท เงินช่วยเหลือสูงสุด 20,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท โดยเงินช่วยเหลือรายละ 1,000 บาทจะแบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 500 บาท งวดแรกโอนตั้งแต่วันที่ 3-5 ธันวาคม วันนี้เป็นวันแรกจะโอนเงินกว่า 1,200,000 ราย และจนกว่าจะครบทั้งหมด
นอกจากนี้ มาตรการเสริมที่จะช่วยให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวชะลอการขายเพราะเราไม่อยากเห็นข้าวเข้าสู่ตลาดมากจนเกินไปจนทำให้ราคาตกโดยมาตรการบรรลุผลแล้วโดยให้เกษตรกรหรือสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรเก็บข้าวไว้จะได้เงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท โรงสีข้าวถ้าซื้อมาเก็บสต๊อกแล้วไม่ปล่อยออกสู่ตลาดจะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ขณะนี้ราคาข้าวกระเตื้องขึ้นแล้วเช่น ข้าวเปลือกจ้าวตอนนี้ตันละ 9,000 กว่าบาท จากเดิมประมาณ 7,000 บาท และข้าวเหนียวรัฐบาลประกันรายได้ 12,000 บาท ตอนนี้ราคา 11,000 บาท จากที่ตกลงไปถึง 8,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิรัฐบาลประกันรายได้ตันละ 15,000 บาท ตอนนี้ราคาขึ้นเป็น 13,000 กว่าบาท หลังจากที่ตกลงตันละ 10,000 กว่าบาท
ส่วนยางพาราตอนนี้ราคาขึ้นมากแล้วจากที่ยางแผ่นกิโลกรัมละ 40 กว่าบาทในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางแผ่นรมควัน 70 บาทต่อกิโลกรัมและยางแผ่นดิบ 60 กว่าบาทและน้ำยางข้น 55-56 บาท ยางก้อนถ้วย 42 บาท ถือว่าราคายางในช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาก รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งผ่านความเห็นชอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วและเกษตรกรที่ถือบัตรสีชมพูก็จะใช้กติกาเดียวกับปีที่แล้วจะได้ส่วนต่างทั้งผู้ถือบัตรสีเขียวและผู้ถือบัตรสีชมพู ถ้าติดปัญหาอะไรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยดูด้วยและที่สำคัญหน่วยปฏิบัติต้องเร่งโอนเงินส่วนต่างให้เร็วที่สุด
รายงานจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่าสถานการณ์ยาง (3 ธ.ค.) การคาดการณ์เช้านี้ คือ ยางแผ่นรมควัน ปรับตัวเพิ่ม ไม่ต่ำ 2 บาท คาดว่าโรงงานเปิดไม่ต่ำ 68 บาท ราคาล่วงหน้าต่างเปิดตลาดจีนทะลุ 15,600 หยวนต่อตัน หรือ 72 บาท เพิ่มขึ้น 1% ตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่น ทะลุ 260 เยนต่อ ก.ก. หรือ 75 บาท บวก +3.8% ปริมาณยางแผ่นขาดตลาด ราคาน้ำยางสด ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก จากฝนตกหนักและน้ำท่วมในภาคใต้ คาดว่าโรงานเปิดที่ 58 – 59 บาท ลานน้ำยางส่วนใหญ่เปิด 56 – 57 บาท หน้าสวน 52- 53 บาท ขณะที่สัปดาห์นี้จะมีฝนตกและน้ำท่วมในบริเวณภาคใต้โดยทั่วไป แทบไม่มีปริมาณน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ปรับเพิ่มโรงงานทางใต้ 41.50 – 42.50 บาท โรงงานอีสาน 40 – 41 บาท ราคาขึ้นลงไม่แรง ยางทางเหนือ อิสานยังมีผลผลิตต่อเนื่อง ภาคใต้เปิดสูงกว่าภาคอิสาน ยางก้อนไหลจากเหนืออีสานมาทางใต้ เนื่องจากเกษตรกรหันไปขายน้ำยาง
สำหรับมาตรการของรัฐบาล เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลผลักดันให้ราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ได้เช่นกันเนื่องจากนักเก็งกำไรราคายางยังคงมีความมั่นใจว่าโครงการต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแนวรับที่ดีหากราคายางจะปรับลดลง อย่างไรก็ตามอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นข้อกังวลของราคายางหากเงินบาทแข็งค่า แต่มีปัจจัยบวกเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับราคาสูงขึ้นยังสามมารถรักษาระดับราคายางได้
มาตรการเสริมซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานที่เป็นปัจจัยกระตุ้นราคาที่สำคัญคือ 1. มาตรการกำกับดูแลด้านปริมาณ ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และ สถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน 2. ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่าง ต.ค. 62 – ก.ย. 65 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย. 63 – 31 มี.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 – 31 ธ.ค. 67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ม.ค. 63 – ธ.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาโครงการ ปี 59 – 69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 (ไม่เกิน 600 ล้านบาท) เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย