กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – ข่าวดี รัฐเตรียมต่ออายุยกเว้นค่าไฟฟ้า Minimum Charge อุ้มผู้ประกอบการ หลังพิษโควิด-19 ยังทำให้ยอดขายหด-ยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังฟุบ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 หัวข้อ “Move Forwards to Smart Industry by ESCO ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ว่า ได้รับข้อเสนอจาก ส.อ.ท.ให้ต่ออายุมาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ (ประเภท 3-7) ออกไปอีก หลังกำหนดสิ้นสุดมาตรการเดือนธันวาคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าบริการไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟรายใหญ่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเป็นผลกระทบจาก โควิด-19 ซึ่งตามนโยบายแล้วเห็นด้วย แต่จะต่ออายุไปอีกมากน้อยเพียงใด ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณา ซึ่งมาตรการนี้ได้ประกาศใช้มาแล้ว 9 เดือน นับจากเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นการประกาศใช้ 3 เดือน และต่ออายุมาแล้ว 3 ครั้ง
“ต้องยอมรับว่าแม้เศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้น แต่จากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเดินทางไม่ได้การเดินทางทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว ก็ส่งผลทบมายังโรงแรมที่พักต่าง ๆ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว การขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าไฟ Minimum Charge ก็เป็นการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการ “นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
สำหรับนโยบายพลังงานระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดการใช้พลังงานฟอสซิล เป็นหนึ่งในมาตรการร่วมกับนานาชาติในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือ Climate Change ที่โลกร้อนขึ้น ซึ่งการที่เอกชนและภาครัฐร่วมมือกันส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานผ่านรูปแบบ ESCO ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบครบวงจร ก็จะส่งเสริมเรื่องดังกล่าว และสร้างความสามารถการแข่งขันของเอกชน ซึ่งตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ESCO ได้มีการลงทุนทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท เกิดการประหยัดคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอนาคตคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
นายรุ่งเรือง สายพวรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องการขยายการเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Demand Charge) ออกไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐจะได้ช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในเรื่องดังกล่าว แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง จึงขอให้ต่ออายุดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ Minimum Charge ปกติแล้วจะมีการจัดเก็บในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวที่ปัจจุบันต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำดังกล่าว แต่เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ทาง กกพ.จึงยกเว้นให้เสีย Demand Charge ตามความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้จริง
สำหรับการดำเนินงานของสถาบันพลังงานฯ ขณะนี้มี 50 บริษัทมาขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) แล้วเพื่อที่จะให้บริการทั้งที่ปรึกษา ลงทุน การพัฒนาด้านอนุรักษ์พลังงานที่มีมาตรฐาน เฉลี่ยจะมีการลงทุนปีละ 2,000 ล้านบาทและสามารถคืนทุนภายใน 4-5 แต่จากปัญหาโควิด-19 ทำให้การลงทุนอนุรักษ์พลังงานลดลงถึงร้อยละ 50 .-สำนักข่าวไทย