กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – ผู้ว่าฯ รฟม.แจงจุดยืนหลังศาลปกครองคุ้มครองบีทีเอส ไม่ให้ปรับหลักเกณฑ์ประเมินยื่นซองรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก โดยเตรียมใช้สิทธิ์อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ยืนยันยังให้เอกชนทุกรายยื่นซอง 9 พ.ย.นี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะฟ้องคดีต่อคณะกรรมการตามมาตรา 36 และ รฟม.ขอให้ศาลคุ้มครองไม่ให้มีการปรับวิธีการประเมินการยื่นซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวานที่ผ่านมาศาลฯ มีคำสั่งทุเลาไม่ให้มีการปรับหลักเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองตามคำร้องของผู้ฟ้อง
นายภคพงศ์ ระบุว่า รฟม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล แต่ขอใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ประเด็นเหล่านี้ไปยังศาลปกครองสูงสุด โดยได้มีการหารือทั้งฝ่ายกฎหมายและผู้แทนอัยการเรียบร้อย ในคำสั่งของศาลวานนี้ไม่ได้ให้ชะลอการเปิดประมูลโครงการฯ ดังนั้น กระบวนการหลังจากนี้จะดำเนินตามขั้นตอนเดิม คือ ให้เอกชนที่สนใจประมูลทุกรายต้องยื่นซองวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ โดยระหว่างนี้ตั้งแต่ 1-8 พฤศจิกายน จะมีการประชุมของคณะกรรมการตามมาตรา 36 เพื่อกำหนดแนวทางและพิจารณาคำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนดำเนินการเมื่อถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน รฟม.รับซองจากเอกชนไว้ก็จะมีระยะเวลาจนกว่าจะเปิดซองประมูล ซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติยังไม่เกี่ยวข้องกับการปรับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 ประกาศก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกประมูลนั้น จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 36 ซึ่งในเอกสารเปิดประมูลได้สงวนสิทธิ์ที่ รฟม.สามารถยกเลิกการประมูลได้ แม้จะอยู่ในขั้นเจรจาต่อรองราคาก็ตาม
“ขอย้ำว่าข้อกฎหมายการอุทธรณ์ต่อศาล และท้ายที่สุดแนวปฏิบัติของ รฟม.จะเป็นอย่างไร ทั้งหมดขอให้ติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการมาตรา 36 อีกครั้ง” ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าว
ส่วนการชุมนุมของคณะราษฎร ซึ่งมีการใช้สถานีรถไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้รถไฟฟ้าได้รับคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หยุดให้บริการนั้น ผู้ว่าฯ รฟม. ระบุว่าขณะนี้รถไฟฟ้าทุกระบบได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งสิ้น ไม่เฉพาะรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ส่วนจำนวนผู้โดยสารจะลดลงมากน้อยแค่ไหน อยู่ระหว่างขอข้อมูลจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) แต่ได้มีการพูดคุยกับเอกชนที่เป็นคู่สัมปทานแล้ว โดยเอกชนยืนยันว่าจะไม่ใช้สิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากรัฐจากคำสั่งปิดให้บริการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วันนี้ (21 ต.ค.) ยังได้อนุมัติโครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ต มูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท หลังจากนี้จะดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเสร็จและขอความเห็นชอบจาก ครม.เดือนตุลาคม 2564.-สำนักข่าวไทย