กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – ผู้ว่าฯ รฟม.ยืนยันไม่มีค่าโง่ กรณี “ศรีสุวรรณ” ยื่น ครม.ตรวจสอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยในเอกสารระบุว่าหากเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล และ รฟม.แพ้คดีมีค่าโง่เกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
นายภคพงศ์ ยืนยันว่า รฟม.และคณะกรรมการ มาตรา 36 และ รฟม.ได้ปรับวิธีการประเมินการยื่นซอง ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2562 โดยประเด็นสำคัญในส่วนแนบท้ายคำฟ้องแนบท้ายของบีทีเอสต่อศาลปกครองของบีทีเอสนั้น มีเพียงคำร้องขอให้มีการคุ้มครองหยุดการดำเนินการ ไม่มีคำร้องให้จ่ายชดเชยความเสียหายแต่อย่างใด
“บีทีเอสยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ขอคุ้มครองชั่วคราวในคำขอท้ายฟ้องคดีหลัก โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการ มาตรา 36 ที่ปรับปรุงให้มีการขยายเวลา และเพิกถอนเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) เกี่ยวกับการประเมิน และท้ายคำร้องให้ศาลสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ” นายภคพงศ์ กล่าว
ผู้ว่าฯ รฟม.ยืนยันอีกครั้งว่าการดำเนินการปรับปรุงวิธีการประเมินตามมาตรา 36 ที่ออกเอกสารแนบท้าย ไม่มีการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต เพราะยังไม่มีการรับซองข้อเสนอ นอกจากนี้ ยังมีการขยายระยะเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน ทำให้เอกชนทุกรายมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอไม่น้อยกว่า 70 วัน และจะมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้เป็นไปตามการประเมินคุณสมบัติ แต่รายละเอียดอื่น ๆ ไม่มีการปรับปรุง ผู้เข้าร่วมคุณสมบัติโยธาและคุณสมบัติการจัดผู้เดินรถยังเป็นไปตามเดิม
ส่วนประเด็นข้อต่อสู้ที่สำคัญ คือ ความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้อง (บีทีเอส) ยืนยันขณะนี้ยังอยู่ในช่วงให้เอกชนเตรียมข้อเสนอยังไม่ได้ยื่นซองแต่อย่างใด ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่เอกชนรายใด จึงยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น
ส่วนคำถามของสื่อมวลชนว่าทำไมจึงมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินฯ หลังจากการปิดขายซองไปแล้วนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.ระบุว่าในข้อกฎหมายได้มีการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่ากฎหมายให้อำนาจ รฟม.สามารถดำเนินการได้ ในการรับฟังข้อเสนอของเอกชนนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อดำเนินการได้ ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ หรือฟังแค่ความเห็นของเอกชนเพียงรายหนึ่งรายใด
นายภคพงศ์ ยืนยันว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง หรือยกคำร้องคุ้มครอง ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอน และยืนยันว่า รฟม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล พร้อมมั่นใจกรณีดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อแน่นอน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่าบีทีเอสพร้อมเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลปกครองในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ส่วนศาลจะมีคำสั่งเมื่อใด ต้องติดตามการพิจารณาของศาลอีกครั้ง โดยในส่วนของบีทีเอสยืนยันว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่บีทีเอส ส่วนข้อต่อสู้ที่ รฟม.ระบุว่ายังไม่มีเอกชนรายใดยื่นซอง บีทีเอสจึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น คงต้องไปพิสูจน์กันในศาล
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่าง กรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย).-สำนักข่าวไทย