กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – เดินหน้าแล้ว!! โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี กทพ.จับมือ บ.โชติจินดาฯ และ บ.เอพซิลอนฯ ลงนามสัญญางานจ้างออกแบบรายละเอียดแล้ววันนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญางานจ้างผู้ให้บริการออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอพซิลอน จำกัด
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปทุมธานี นครนายก และสระบุรี จะใช้ถนนพหลโยธิน และ ถนนรังสิต-นครนายก เป็นเส้นทางหลัก มีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนี้ ยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง โดยเฉพาะวันหยุดและช่วงเทศกาลจะเกิดปัญหาจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว กทพ.จึงได้วางแผนการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัชไปนครนายกและสระบุรี เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนน เพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนน
สำหรับโครงการจะมีระยะทาง 104.7 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) มีทิศทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านฯ จตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) แนวเส้นทางจะไปทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362) ด้านตะวันออก สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2565 เมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการปี 2568 ขณะที่เบื้องต้นอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 25 บาท และสิ้นสุดเส้นทาง 190 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการ กทพ.ที่มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน โดยกำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบ โดยนำเทคโนโลยี เช่น โดรนมาใช้เพื่อตรวจสภาพการจราจร ให้ประชาชนเดินทางปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ การขยายสัญญาสัมทานและข้อพิพาทจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายใน 1 ปี ขณะเดียวกันยังกำชับว่าโครงการของ กทพ.จะต้องดูเรื่องระเบียบกฎหมาย มีหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และตรวจสอบได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า พรุ่งนี้ (5 ต.ค.) ยังไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากล่าสุด ขสมก.ส่งแผนฟื้นฟูฯ ที่ปรับแก้ไขมาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว แต่กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ ขสมก.ไปปรับแก้ส่วนของข้อความในร่างแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว โดยจะเปลี่ยนประเด็นการใช้ข้อความเกี่ยวกับการจัดเช่ารถ โดยจะใช้ข้อความว่า “การเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง” จากเดิม ขสมก.ใช้คือ “การเช่ารถ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่มีปัญหาในการตีความ พร้อมยอมรับว่าแม้จะทำให้เกิดความล่าช้า แต่เพื่อความรอบคอบและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในการให้บริการ และทำให้ ขสมก.พ้นจากสภาวะการขาดทุน เนื่องจากรถที่ให้บริการเป็นแบบครอบคลุมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ใช้พลังงานที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเก็บอัตราการให้บริการ 30 บาทราคาเดียวตลอดเส้นทางสอดคล้องกับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้มีการขอมติ ครม.ใช้อัตราค่าโดยสารราคาเดียวและให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำหนดโดยออกประกาศกรมขนส่งทางบก.-สำนักข่าวไทย