กรุงเทพฯ 28 ก.ค. – กนอ.ทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ผู้พัฒนานิคมฯ จากวิกฤติโควิด-19
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม (ระยะ2)
สำหรับรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม (ระยะ2) ประกอบด้วย 1.การลดหย่อนอัตราค่าเช่าที่ดินในอัตราร้อยละ 10 ให้แก่ผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทุกประเภท ยกเว้นผู้เช่าที่ดินพร้อมอาคาร สำหรับผู้เช่าที่ดินที่ต้องชำระค่าเช่าระหว่างเดือนมกราคม–ธันวาคม 2563 โดยต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเองและท่าเรืออุตสาหกรรม 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย(ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้เช่าที่ดินสามารถขอคืนหลักประกันสัญญาเช่าส่วนที่เป็นเงินสดได้ โดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศในมูลค่าที่เท่ากันมาวางแทน ซึ่งมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 140.4
2.การลดหย่อนค่าเช่าที่ดินร้อยละ 10 สำหรับผู้เช่าที่ต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างเดือนมกราคม- ธันวาคม 2563 และเป็นสัญญาเช่าระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) และต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และท่าเรืออุตสาหกรรม 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย (ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือในกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 62.1 ล้านบาท และ 3.ลดหย่อนค่ากำกับการบริการร้อยละ 50 สำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เปิดดำเนินการแล้ว 30 แห่ง และยกเว้นค่ากำกับการบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยยังไม่เปิดดำเนินการ 13 แห่ง และขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 77.4 ล้านบาท
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมครั้งนี้มีมูลค่ารวมประมาณ 280 ล้านบาท เมื่อรวมกับมาตรการความช่วยเหลือระยะที่ 1 จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 309 ล้านบาท โดยมาตรการทั้งหมดที่ดำเนินการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการทุกรายในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อให้การประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2563 มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 114 โรงงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 12,019 คน ส่งผลให้มีตัวเลขโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสะสม (ถึง มิ.ย.63) มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 6,112 โรง มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 515,962 คน โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ลดภาระและยังเสริมสภาพคล่องได้ในคราวเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย