กรุงเทพฯ 4 ก.พ.- สมคิดให้จีบ เทวินทร์ อดีตบิ๊ก ซีอีโอ ปตท. นั่งบริหารบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย)เพื่อพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพไทยสู่การเป็นธุรกิจมูลค่าสูงหรือ Unicorn
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเร่งทำงานภายใน 3 เดือนนี้ในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านรูปแบบการทำงาน ได้ขอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานจากเป็นหน่วยงานกำกับดูแลไปสู่การเป็นหน่วยงานให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาศักยภาพของตัวเองสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมปรับวิธีคิดเสียใหม่อย่าคิดแบบไดโนเสาร์ โดยด้านการขับเคลื่อนส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสาร์ตทอัพ ได้ขอให้เร่งขับเคลื่อนการจัดตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ โดยมี Hong Kong CyberPort และหน่วยงานส่งเสริม startup ของอิสราเอล และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยจำนวนมากร่วมจัดตั้ง
ทั้งนี้ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) นับเป็น National Startup Platfrom ซึ่งเป็น Platfrom กลาง ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนา สตาร์ทอัพไทยครบวงจร เพื่อสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพสู่การเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) หรือธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมูลค่าสูง และเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยืน โดยมีการประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตและเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ต่อไป การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของบริษัทจะหลากหลายธุรกิจ ไม่เน้นเฉพาะฟินเทคอย่างฮ่องกงไซเบอร์พอร์ต
ทั้งนี้ ในส่วนผู้ขับเคลื่อน บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) นายสมคิด ได้ขอให้พิจารณาทาบทามนายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เข้ามาทำหน้าที่ซีอีโอขับเคลื่อน และนายวีระพงศ์ มาลัย รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) มอบหมายให้เดินหน้าประสานความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น 20 จังหวัด เพื่อประสานความร่วมมือในการทำความรู้และเทคโนโลยีที่แต่ละจังหวัดเชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยพัฒนาด้านการอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูปของไทยและพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร เช่น มะนาวที่มีอยู่มากน่าจะพัฒนาแปรรูปได้อีกหลากหลาย โดยในช่วงประมาณเดือนพ.ค.นี้ กสอ.จะลงนามเอ็มโอยูกับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัด วากายะมะ(WAKAYAMA) เป็นจังหวัดที่ 21 นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ดูแลช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยควบคู่ไปด้วย
นายสมคิด ยังมอบหมายให้ สศอ.เดินหน้า Connected Industry ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจของญี่ปุ่น มาใช้ในประเทศไทย โดยมอบหมายให้เดินหน้าเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการไทยนำระบบ AI และ IoT เข้ามาใช้โดยให้เร่งดำเนินการภายใน 5 ปีนับจากนี้ไป เพราะจะช่วยให้มีความสะดวกในการเข้ามาร่วมมือของผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่น พร้อมเดินหน้าทักษะแรงงานไทยผ่านระบบ National Reskill Platform โดยมี เป้าหมายปีละ 80,000 คน เพราะหากไทยไม่มีแรงงานที่มีทักษะก็ไม่สามารถที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้ และขอให้การทำงานของกสอ. จะต้องร่วมมือกับนาย ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม หรือ เมติ ของประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
ด้านธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.)ขอให้เร่งพัฒนาธุรกิจโชว์ห่วย โดยเน้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจสมัยใหม่ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบัน โดยให้การทำงานควรเชื่อมโยงและประสานความร่วมมือกับธนาคารออมสินและบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยในส่วนของบริษัทไปรษณีย์ไทยจะ เข้ามาร่วมมือในเรื่องการส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้อย่างรวดเร็วเป็นต้น . – สำนักข่าวไทย