กรุงเทพฯ
5 ส.ค.- กฟผ.ศึกษาเตรียมพร้อมเป็นผู้ค้าเชื้อเพลิงทุกประเภท หลัง กพช.ให้เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี
6.5 ล้านตัน/ปี ชี้ การชะลอเวลาการนำเข้าจากไตรมาส4/61 เป็นเรื่องดี
สร้างภาระค่าไฟฟ้าลดน้อยลง ด้าน กรมเชื้อเพลิงฯ ระบุ
กฟผ.นำเข้าสร้างการแข่งขันรองรับก๊าซอ่าวไทยลดลง
นายถาวร
งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในขณะนี้ กฟผ.เตรียมพร้อมนำเข้าก๊าซธรรมเหลว
(แอลเอ็นจี ) ตามนโยบายรัฐบาลทั้งนำเข้าในรูปแบบคลังลอยน้ำ (FSRU
) 5 ล้านตัน/ปี ขณะนี้กำลังทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
หรืออีไอเอ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 2561 และเตรียมนำเข้าผ่านคลังมาบตาพุด 1.5
ล้านตัน/ปี โดยส่วนนี้จะเปลี่ยนแปลงเวลานำเข้า
จากเดิมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้เริ่มนำเข้า ภายในปลายปี2561
โดยจะเลื่อนเป็นปี 2562
“คงต้องรอผลประชุม กพช.ในการเลื่อนนำเข้าแอลเอ็นจี
1.5 ล้านตันต่อไป นับเป็นเรื่องที่ดีเพราะตามแผนเดิมที่จำนำเข้าไตรมาส4 ปีนี้เป็นช่วงที่ราคาแอลเอ็นจีจะมีราคาสูงจะกระทบต่อภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนและประเทศ
โดยการชะลอการนำเข้าออกไปนั้น ไม่กระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันยังมีสำรองไฟฟ้าเพียงพอ”
นายถาวรระบุ
นายถาวรกล่าวว่า ในการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ.นั้น
นับเป็นข้อได้เนื่องจากมีความต้องการก๊าซฯ เพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้าของตนเอง
และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่ธุรกิจค้าเชื้อเพลิงหรือเทรดดิ้ง ซึ่งในขณะนี้ได้ส่งบุคลากรศึกษาเรื่องนี้
และศึกษาการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและค้าเชื้อเพลิง
โดยมองไปถึงการค้าเชื้อเพลิงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ
สำหรับFSRU เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจี 5 ล้านตัน/ปี
ในอ่าวไทยนั้นจะอยู่ห่างจากชายฝั่ง 20 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 ใช้ส่งก๊าซให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดย กฟผ.กำลังศึกษาจะขยายความจุของถังเก็บแอลเอ็นจีจาก
210,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 260,000ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเท่ากับขนาดของเรือบรรทุกแอลเอ็นจีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
1 ลำ
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า มติ กพช.ให้
กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีนั้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันการนำเข้าแอลเอ็นจี จากที่
ปัจจุบันมี ปตท.นำเข้ารายเดียว โดย ปตท.ก่อสร้าง สถานีนำเข้าบนฝั่ง 2 แห่ง
ในจังหวัดระยองคือที่มาบตาพุด(สร้างเสร็จแล้ว ) 11.5 ล้านตัน/ปี และที่หนองแฟบ
(กำลังก่อสร้าง) 7.5 ล้านตัน/ปี กำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 นับเป็นแผนรองรับ
การผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่น้อยลงหลังปี 2565-2566 ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติและเอราวัณบงกชจะหมดอายุสัมปทาน ที่ทำให้ปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2
แหล่งลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่จัดหาได้ประมาณ 2,100
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน
การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศทั้งบนบกและในทะเลมีอัตราเฉลี่ยรวมประมาณ 3, 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โดยแบ่งเป็นการจัดหาจากแหล่งบนบก เฉลี่ยประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
และจากแหล่งในทะเล จำนวนประมาณ
3,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้ในประเทศอยู่ที่เฉลี่ย
4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน- สำนักข่าวไทย