สนามบินอู่ตะเภา 18 ก.พ.-เลขาธิการฯ อีอีซี ระบุการลงทุนในอีอีซีจะช่วยให้จีดีพีโตร้อยละ 5 พร้อมดึงวิทยาลัยอาชีพปั้นแรงงานคุณภาพป้อนระเบียงเศรษฐกิจ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า หลังจากการร่างพ.ร.บ.อีอีซี ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่า ตลอดปีนี้ จะมีคำขอรับส่งเสริมโครงการลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท และเมื่อมีการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่รวมถึงการลงทุนจาก ภาคเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาในเขต อีอีซี ในวงเงินที่บีโอไอคาด จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ครึ่งปีหลังและต่อเนื่องไปในปีหน้าเติบโตได้ร้อยละ 5 นับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาขยายตัวตามศักยภาพที่แท้จริงของประเทศ และเมื่อการเดินหน้าการลงทุนในโครงการอีอีซี ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวในระดับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อเนื่องไป จากที่ผ่านมาจีดีพีไทยขยายตัวเพียงประมาณร้อย 3 ต่ำกว่าศักยภาพจริงของประเทศ
สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีแรก ประกอบด้วย 4 กลุ่ม 15 โครงการ ประกอบด้วย เมืองการบินภาคตะวันออก หรือ สนามบินอู่ตะเภา การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตามพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ทางหลวงและมอเตอร์เวย์ การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเคมีชีวภาพขั้นสูง อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร การท่องเที่ยวภาคตะวันออก ศูนย์กลางด้านธุรกิจระดับโลก เขตการค้าเสรี เมืองใหม่ บนพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง เป็นต้น
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้สำนักงานอีอีซี ยังหารือกับวิทยาลัยอาชีวะในเขตภาคตะวันออก จัดทำหลักสูตรด้านอาชีวะ ผลิตบุคคลากรเพิ่มจากเดิม 300 คนต่อปี เพิ่มเป็น 6,000 คนต่อปี เนื่องจากในพื้นที่ยังขาดแรงงานคุณภาพด้านอาชีวะกว่า 50,000 คน นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังเสนอ หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 อนุมัติหลักสูตรใหม่จากเดิมต้องใช้เวลา 2 ปี เหลือระยะเวลาอนุมัติ 2 เดือน และนำผู้เชี่ยวชาญในโรงงานบริษัทเอกชน ที่ได้รับใบรับรองมาช่วยสอนเด็กนักเรียนอาชีวะเพื่อรับประสบการณ์ตรงมาช่วยพัฒนาแรงงานคุณภาพ และการพัฒนาเมืองอีอีซีในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้มาพัฒนา โดยเน้นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม 22 แห่งมาพัฒนา จึงระวังเรื่องเก็งกำไรราคาที่ดินอย่างมาก เมื่อเขตอีอีซีพัฒนา เมือง ที่อยู่อาศัย สำนักงานบริษัทจะขยายออกไปรัศมี 20-30 กิโลเมตร
พล.ร.ต. ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า แผนพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จะมีมูลค่าลงทุนในโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 สนามบิน คือ อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง มูลค่าโครงการ 64,300 ล้านบาท จะจัดทำร่างทีโออาร์ได้ในช่วงเดือนมีนาคมนี้และจะสรุปรายชื่อเอกชนที่ได้รับเลือกเข้ามาดำเนินการในช่วงปลายปี โดยคาดว่าทั้งสองโครงการจะดำเนินการควบคู่กันไป พร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2566 คาดว่าในช่วง 5 ปีแรก ประเมินว่าจะมีผู้ใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา 15 ล้านคน และในช่วง 10 ปี เพิ่มเป็น 30 ล้านคน และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในช่วง 15 ปี จากบทเรียนการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ จึงต้องเปิดให้เอกชนเพียงรายเดียวบริหารพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ แต่สนามบินอู่ตะเภาพร้อมจัดทำสถานที่ (Pickup Counter) จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้กับบริษัทเอกชน เขตปลอดสินค้าอากรคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยวจึงดำเนินการได้ในพื้นที่ต่างๆ-สำนักข่าวไทย