ศรีสะเกษ 3 ก.ย. – กระทรวงพลังงาน หนุนใช้โซลาร์เซลล์ในชุมชนเกษตรผักไหม จ.ศรีสะเกษ เพิ่มรายได้ – ลดค่าไฟฟ้าได้เกือบ 1 แสนบาท/ปี
นายยงยุทธ ห่อทอง พลังงานจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนทั้งในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ที่สายส่งยังเข้าไม่ถึง เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลงเกษตรที่ตำบลผักไหม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จึงได้ส่งเสริมให้ชุมชนได้นำพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในชุมชน สร้างรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) แบบตั้งพื้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ปี 2561-2565 จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยติดตั้งระบบสูบน้ำฯ ขนาด 2,500 วัตต์ ให้กับตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 7 จุด วงเงิน 3,029,000 บาท เพื่อสูบน้ำจากบ่อบาดาล มาเก็บในแทงค์ขนาด 25,000 ลิตร หรือ 50,000 ลบ.ม. และนำมาใช้ในแปลงเกษตรของชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 71 ครัวเรือน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้เกือบ 1 แสนบาทต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8,155.22 kgCo2/ปี อีกด้วย
นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรตำบลผักไหม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดความเสียหายทางผลผลิต ทำให้คนในชุมชนคิดที่จะพัฒนาพื้นที่นา ที่สวน ให้มีรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพ จึงได้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพให้คนในชุมชนมีความมั่นคง และยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม ขายเมล็ดพันธุ์ข้าว และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ พร้อมกับพัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่าทำข้าวอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็ได้นำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาปรับใช้ในพื้นที่ จนล่าสุดได้พัฒนาเป็นผักไหมฟาร์ม กลุ่มต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดลของภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจ
“พื้นที่แปลงเกษตรในตำบลผักไหม ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้ การบริหารจัดการน้ำด้วยการนำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วปล่อยกระจายด้วยระบบท่อ ไปใช้ในฟาร์มและแปลงเกษตรกร ซึ่งช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรในช่วงน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีระบบสูบน้ำฯ ที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของตำบล ชุมชนจึงต้องการงบประมาณสำหรับดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำฯ ขนาด 2,500 วัตต์ เพิ่มเติมอีกรวม 13 จุด เพื่อให้ครอบทุกพื้นที่” นางจันทรา กล่าว. -517-สำนักข่าวไทย