กรุงเทพฯ 14 ก.ค.-ก.ล.ต. แจงสืบสวนมาตั้งแต่ปี 2559 กรณีกล่าวโทษ “สมโภชน์-อมร” ทุจริต EA ส่งผลขาดคุณสมบัติเป็นกรรมการและผู้บริหาร บจ.-บล. ด้าน EA เรียกประชุมด่วนวันนี้ เตรียมชี้แจงพรุ่งนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงกรณีเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2567 กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกระทำการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย โดยพบว่า ในช่วงปี 2556 –2558 บุคคลทั้ง 3 ได้ร่วมกันทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 พร้อมส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องบางส่วน และได้ตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งกรณีการเรียกมาสอบถ้อยคำและการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่งและได้ความร่วมมือรวมเป็นอย่างดี ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผ่านหน่วยงาน ก.ล.ต. หลายประเทศ พบว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดจริง จึงได้กล่าวโทษ และส่งเรื่อง ต่อ ปปง.
จากการสอบสวน พบว่าการกระทำความผิดเกิดในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ต่อเนื่องกัน โดยกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 311 พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ (มาตรา 311 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 317/1) ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2573 (นับแต่ปี 2558) ส่วนกรณีความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มีอายุความ 10 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2568 (นับแต่ปี 2558)
กรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโทษตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5 – 10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน สำหรับกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้สนับสนุนมีโทษตามมาตรา 311 ตามความในมาตรา 315 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 313 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม การถูกกล่าวโทษดังกล่าว มีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจาก ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาต่อไป
มีรายงานว่าวันนี้ (14 ก.ค.) EA นัดประชุมด่วน เพื่อทำเอกสารแถลงการณ์ชี้แจงข้อกล่าวโทษของ ก.ล.ต. สำหรับเผยแพร่ในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) นอกจากนี้ ยังเตรียมเงินรองรับหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระในเร็วๆนี้ด้วย โดย EA มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 15 ส.ค.นี้ มูลค่า 1,500 ล้านบาท และวันที่ 29 ก.ย.จะครบอีก 4,000 ล้านบาท ส่วนตั๋วแลกเงินระยะสั้นจะทยอยครบชำระภายในปีนี้ มูลค่า 1,300 ล้านบาท บริษัทฯมียอดคงค้างตราสารหนี้ระยะยาวรวม 31,166 ล้านบาทและตราสารหนี้ระยะสั้นรวม 1,500 ล้านบาท
ปัจจุบัน EA ยังเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 2 ชุด ระหว่างวันที่ 23-25 ก.ค.2567 แบ่งเป็นชุดที่ 1 มีอายุ 1 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 อัตราดอกเบี้ย 4.70% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 5.50% ต่อปี โดยทริสให้เรทติ้งองค์กรและหุ้นกู้ที่ BBB+ เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด.-516.-สำนักข่าวไทย