นนทบุรี 17 มิ.ย.- รมว.พาณิชย์ เผยผลประมูลสตอกข้าวสารค้างเก่า 10 ปีของรัฐ เสนอให้ราคาสูงถึงตันละ 19,070 บาท รอเจรจาต่อรองราคาเพิ่ม แต่ได้เงินเข้ารัฐแล้ว 286 ล้านบาท ย้ำผู้ชนะประมูลจะนำไปส่งออกต้องทำการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานข้าวหอมมะลิของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานไว้ หากขายในประเทศก็จะต้องผ่านมาตรฐานของกรมการค้าภายใน และยังมีหน่วยงานตรวจสอบอีก เช่น อย.
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการยื่นซองเสนอราคาประมูลข้าวของทั้ง 2 โกดัง ตามประกาศเรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสตอกของรัฐบาลเป็นการทั่วไปครั้งที่ 1/ 2567 ที่องค์การคลังสินค้าในวันนี้ โดยมีผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวในคลังทั้ง 2 หลัง จำนวน 6 รายจาก ผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวน 7 ราย และได้ปิดยื่นการประมูลไปเมื่อเวลา 12.00 น.ที่ผ่านมา โดยผลการเปิดซองประมูลเบื้องต้น สำหรับ คลังสินค้ากิตติชัยหลัง 2 และที่คลังสินค้า บจก.พูลผลเทรดดิ้ง หลัง 4 ผู้ยื่นซองเสนอราคาสูงสุดทั้ง 2 คลัง คือ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพรช เสนอซื้อที่ราคา 19,070 บาท/ตัน โดยราคาเฉลี่ยข้าวสารหอมมะลิที่เมื่อปี 57 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 29,637 บาท/ตัน และปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 28,937 บาท/ตัน ถือว่าไม่ได้แตกต่างจากราคาข้าวที่ประมูลในครั้งนี้มากนัก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเชื่อมั่นคุณภาพ มาตรฐานในการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้าของรัฐ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการต่อรองเพิ่มราคาให้สูงขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศสูงสุด โดยจะดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วและคณะกรรมการจะสรุปผลการประมูลเสนอผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า เพื่ออนุมัติและแจ้งผู้ชนะการประมูลเพื่อมาทำสัญญาซื้อ-ขายกับองค์การคลังสินค้า และชำระเงินมอบข้าวสาร โดยองค์การคลังสินค้าได้กำหนดระยะเวลาขนย้ายให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังการเซ็นสัญญา
สำหรับท่านที่สงสัยว่าจะเอาข้าวไปไหนและจะกระทบกับอุตสาหกรรมข้าวในภาพรวมหรือไม่ ขอชี้แจงว่าไม่กระทบเนื่องจากข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ยังไม่ออก จะให้ผลผลิตในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่นอกฤดูกาลและปริมาณข้าวสารในการประมูลครั้งนี้ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนที่ไทยส่งออกกว่า 8,000,000 ตันต่อปี และข้าวหอมมะลิที่ประมูลในครั้งนี้ได้ผ่านการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งด้านกายภาพและคุณภาพไม่พบสารก่อมะเร็งไม่มีสารรมยาตกค้างมีคุณภาพทางโภชนาการ
สำหรับกรณีที่ผู้ชนะการประมูลจะนำไปส่งออกจะต้องทำการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ได้ตามมาตรฐาน ข้าวหอมมะลิของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานไว้ และสำหรับการจำหน่ายในประเทศก็จะต้องผ่านมาตรฐานของกรมการค้าภายในและยังมีหน่วยงาน ตรวจสอบ เช่น อย. เป็นต้น และผลจากการดำเนินการครั้งนี้จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐไม่น้อยกว่า กว่า 286 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการบริหารข้าวอย่างเป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การปลูก การเลือกเมล็ดพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การขัด การสีข้าวและการปรับปรุงคุณภาพ สามารถเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทยได้.-514-สำนักข่าวไทย