กรุงเทพฯ 23 เม.ย. -ครม.เห็นชอบ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หวังกระตุ้น GDP ปี 68 ร้อยละ 1.8 มอบหลายหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุมเข้มทุจริต
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ การสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
รัฐบาลคาดว่าในปี 2567 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ต่ำกว่า หลายหน่วยงานเคยคาดกาณ์ ไว้ นับว่าต่ำกว่าศักยภาพ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต โดย GDP ในไตรมาส 4 ปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.6 เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โตต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 69 รัฐบาลจึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน มุ่งรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
รัฐบาลกำหนดกลุ่มเป้าหมาย สัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน อายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี หรือรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท กำหนดการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า ในพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
สำหรับการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า กำหนดให้ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าสามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า
สำหรับการซื้อสินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ
ด้านคุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ: ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป รัฐบาลได้การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย
ในด้านแหล่งเงิน: มีแนวทางเกี่ยวกับแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ได้แก่ (1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท (2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท และ (3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ เริ่มในงบประมาณรายจ่ายปี 2567- 68 ต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569
ในด้านป้องกันการทุจริต มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ โดยคณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะกรรมการนโยบายฯ ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ (1) กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ (Negative List) เงื่อนไขเกี่ยวกับร้านค้าและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ (2) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม และอื่น ๆ (3) คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบการตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ) เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ ที่ไม่ขัดต่อกรอบหลักการต่าง ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และสอดคล้องกับระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย โดยประสานการดำเนินงานของหน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ ในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นเลขานุการร่วม
ครม. ยังเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ การเห็นชอบมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ จัดตั้งขึ้น ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดโครงการฯ การลงทะเบียนโครงการฯ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้มีความชัดเจนก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
กระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ จะได้นำเสนอมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อให้สามารถผลักดันการดำเนินโครงการฯ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน จะได้เร่งพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการฯ ที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ในโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมได้ต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายฯ มีนโยบายที่จะให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567.-515 สำนักข่าวไทย