เชียงราย 18 มี.ค. – นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟดอยหลวง เร่งรัดทุกโครงการให้แล้วเสร็จเปิดบริการปี 2571 เพิ่มสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมไทย
นายสุรพงษ์ ตรวจเยี่ยม กล่าวว่า ได้ไปตรวจความพร้อมความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ณ พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง จังหวัดเชียงราย อุโมงค์นี้เป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา ประกอบด้วย 1.อุโมงค์สอง จังหวัดแพร่ ความยาว 1.2 กิโลเมตร 2.อุโมงค์งาว จังหวัดลำปาง ความยาว 6.2 กิโลเมตร 3.อุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา ความยาว 2.7 กิโลเมตร 4.อุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.4 กิโลเมตร รวมระยะทาง 13.5 กิโลเมตร ซึ่งอุโมงค์งาวเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
“ได้ให้ รฟท. เร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เสร็จตามกำหนดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสาร ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวก สามารถลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์ได้กว่า 1-1.30 ชม. โดยคาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้บริการได้ในปี 2571” นายสุรพงษ์ กล่าว
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีสถานี และป้ายหยุดรถ 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง ป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า บรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนน เชื่อมต่อไปยังชายแดนเชียงของ โดยโครงการได้มีการออกแบบให้มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ไม่มีจุดตัดทางถนน โดยทำสะพานรถยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ (Overpass/ Underpass) รวมถึงสะพานลอยสำหรับทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ รวม 254 จุด ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับ สามารถรักษาระดับความเร็ว ของขบวนรถไฟให้คงที่ มีความปลอดภัย
ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วเสร็จ รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ จะเป็นเส้นทางรถไฟที่มีเทคโนโลยีก่อสร้างที่ทันสมัย มีทิวทัศน์รอบข้างสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียน. -511- สำนักข่าวไทย